เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9814
วันที่: 30 ธันวาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินที่นำมาเป็นฐานคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
ข้อกฎหมาย: กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ข้อหารือ           กรณีเงินได้พึงประเมินที่นำมาเป็นฐานคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยมีข้อเท็จจริงว่า สมาชิกกองทุนออกจากงาน เนื่องจากเกษียณอายุการทำงาน และได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครั้งแรก และงวดถัด ๆ ไป ซึ่งสมาชิกกองทุนมีความประสงค์จะซื้อกองทุน RMF และ LTF โดยนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเป็นฐานในการคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF บริษัทหลักทรัพย์ฯ จึงขอทราบว่า หลักเกณฑ์ในการนำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวนใดที่ได้รับมาเป็นฐานคำนวณในการซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF ดังนี้
          1.กรณีนาย ก ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ อายุ 60 ปี เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกิน 5 ปี ได้รับเงิน
               1.1 เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 839,670.67 บาท
               1.2 เงินผลตอบแทนการทำงาน 10 เท่า จำนวน 2,000,000 บาท
               1.3 ของที่ระลึก จำนวน 50,000 บาท ในปีที่พ้นจากตำแหน่ง จำนวนเงินที่ นาย ก จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF ในส่วนของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีตาม 1.1 ระหว่าง จำนวน 839,670.67 บาท (เงินสะสม ผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบของนายจ้าง และผลประโยชน์เงินสมทบ) หรือจำนวน 577,289.50 บาท (ผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบของนายจ้าง และผลประโยชน์เงินสมทบ)
          2. กรณีนาย ก แบ่งรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นงวด ปีละ 100,000 บาท และในปีเดียวกันมีเงินได้อื่นด้วย โดยกองทุน RMF ได้ออกหนังสือรับรองเป็นเงินสะสม จำนวน 19,372.58 บาท และเงินผลประโยชน์จำนวน 80,627.42 บาท จำนวนเงินที่นาย ก จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF ในส่วนของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับเป็นรายปีระหว่าง จำนวน 100,000 บาท หรือจำนวน 80,627.42 บาท
แนววินิจฉัย           1.กรณีเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามข้อ 2 (55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท
          2. กรณีเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามข้อ 2 (66) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท อย่างไรก็ดี การได้รับยกเว้นภาษีตาม 1. และ 2. ดังกล่าว นาย ก ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว
          3. กรณีนาย ก ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยรับครั้งเดียวหรือขอรับเป็นรายปี เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเนื่องจากการจ้างแรงงาน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น นาย ก มีสิทธินำเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเป็นฐานคำนวณเพื่อซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF ได้
เลขตู้: 77/39438

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020