เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/01817
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญและดอกเบี้ยค้างชำระ
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: บลจ. ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ตามประเภทกิจการจัดการลงทุน ในระหว่างปี 2540 บลจ. ได้ลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 2 แห่ง และได้บันทึกรายการทางบัญชีเป็นเงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินเป็นจำนวนเงินรวม 93.1 ล้านบาท ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2540 บมจ.ได้ถูกคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้หยุดดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว และต้องดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูฐานะทางการเงินส่งต่อคณะกรรมการกำกับการควบหรือโอนกิจการของสถาบันการเงินในขณะนั้น จึงทำให้ บมจ. ทั้งสองไม่สามารถจ่ายคืนเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยที่ บมจ. ทั้งสองค้างชำระแก่ บลจ. และ บลจ. ได้ทวงถามเพื่อให้ บมจ. ทั้งสองจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างถึงการไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามคำสั่งของทางการ และในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้มีคำสั่งให้ บมจ. หยุดดำเนินกิจการเป็นการถาวร จากกรณีดังกล่าว ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ บลจ. ได้กำหนดให้ต้องตั้งสำรองที่กันไว้เผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ จากการให้สินเชื่อแก่ บมจ. จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 93.1 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ บลจ. คำนวณดอกเบี้ยที่ค้างรับจาก บมจ. ไว้เพียงหกเดือนนับตั้งแต่วันที่เงินให้กู้ยืมครบกำหนดชำระเงิน ในบัญชีของ บลจ. ดังนี้
    1. จำนวนเงินที่ บลจ. ได้ตั้งสำรองที่กันไว้เผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ จากการให้สินเชื่อแก่ บมจ. รวมเป็นจำนวนเงิน 93.1 ล้านบาท บลจ. สามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิประจำปี 2540 ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
    2. บลจ. ไม่ต้องคำนวณรายได้ตามเกณฑ์สิทธิเฉพาะดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ บมจ. ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน มารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:   1. กรณีตาม 1. บลจ. ไม่มีสิทธินำเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 93.1 ล้านบาท มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิประจำปี 2540 ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากรได้ เนื่องจากไม่ใช่หนี้จากการให้สินเชื่อ
    2. กรณีตาม 2. บลจ. มีสิทธินำดอกเบี้ยจากการลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินมาคำนวณรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ เว้นแต่ดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกัน เป็นเวลาเกินหกเดือนแล้วจะนำดอกเบี้ยส่วนนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528
เลขตู้: 61/26404

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020