เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.04501
วันที่: 16 เมษายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 9, มาตรา 78/1(1), มาตรา 82/3
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรม ออกแบบวิศวกรรม วางแผนและ
ตรวจสอบทางด้านวิศวกรรม ประดิษฐกรรม ควบคุมงานก่อสร้างให้แก่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อ
ให้การคิดคำนวณมูลค่าต้นทุนและค่าบริการที่ต้องเรียกเก็บตามสัญญาใกล้เคียงและสอดคล้องกับการ
ดำเนินงานตามโครงการในสภาวะการณ์ปัจจุบันอันเกิดจากความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
ต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้ตกลงกำหนดค่าบริการตามสัญญาเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลดอลลาร์สหรัฐ
ในการเรียกเก็บค่าบริการแต่ละงวด บริษัทฯ จะให้เครดิตในการชำระเงินแก่ลูกค้า และ
ในการออกใบแจ้งหนี้นั้น บริษัทฯ ได้ออกและส่งมอบให้ลูกค้าพร้อมกับใบกำกับภาษี (TAX INVOICE)
ด้วย แต่ด้วยเหตุที่บริษัทฯ มิได้รับอนุมัติให้ออกใบกำกับภาษีเป็นเงินตราต่างประเทศ บริษัทฯ จึง
ออกใบกำกับภาษีเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐควบคู่กับเงินตราไทยในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันนั้น โดยใช้
อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ของเดือนที่มีการออกใบกำกับภาษีเป็นเกณฑ์ใน
การคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท เพื่อเรียกเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าก่อน
และเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของ
เดือนถัดจากเดือนที่มีการออกใบกำกับภาษี และเพื่อการจัดทำรายงานภาษีขายด้วย
เมื่อครบกำหนดที่ลูกค้าจะต้องชำระค่าบริการลูกค้าจะชำระเป็นเงินบาทโดยคำนวณค่าใน
ส่วนที่เป็นค่าบริการที่ต้องชำระกันใหม่ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ชำระค่าบริการกัน ซึ่งปรากฏว่า
ในวันที่มีการชำระราคากันจริงนั้น อัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวมีอัตราที่แตกต่างจากอัตราที่ใช้แปลงค่า
เมื่อได้มีการออกใบกำกับภาษี ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว และ
ด้วยเหตุที่อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันเป็นแบบลอยตัว ทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินบาทมากกว่าและน้อยกว่าที่
ปรากฏในใบกำกับภาษีเดิมที่ได้ออกไปก่อนหน้าที่จะมีการรับค่าบริการ จึงหารือว่า บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติ
อย่างไรหรือไม่กับจำนวนค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอันเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้ออกใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีส่งมอบให้กับลูกค้าก่อน
ได้รับชำระราคาค่าบริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นทันทีที่มีการออกใบกำกับภาษี
ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากบริษัทฯ ได้กำหนดค่าบริการเป็นเงินตรา
ต่างประเทศสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ในการออกใบกำกับภาษีโดยยังไม่ได้รับชำระราคาค่าบริการจึง
ต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร
2. เมื่อครบกำหนดที่ลูกค้าชำระราคาค่าบริการ อัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวจะแตกต่าง
จากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่มีการออกใบกำกับภาษี ทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินบาทมากหรือน้อยกว่าที่
ปรากฏในใบกำกับภาษีเดิม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบเสร็จรับเงินตามจำนวนที่ได้รับชำระราคา โดย
ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีอีก ส่วนแตกต่างที่เกิดขึ้น ทำให้มีกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ
ไม่ต้องนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่อย่างใดเนื่องจากไม่ได้เกิดจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ
เลขตู้: 61/26586

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020