เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/00626
วันที่: 21 พฤษภาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าจัดการที่ได้รับจากกองทุนเสริมสร้างสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 66, มาตรา 91/4 (11)
ข้อหารือ: ธนาคาร ก. จำกัด ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2526 ให้
จัดตั้งกองทุนเสริมสร้างสภาพคล่องของสถาบันการเงิน อันเป็นการมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกเหนือจาก
การประกอบธุรกิจของธนาคารฯ ที่ได้ปฏิบัติอยู่ ซึ่งการดำเนินการของกองทุนฯ มิได้มุ่งหวังกำไร แต่
จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ได้รับผลกระทบ
กระเทือน เนื่องจากการหยุดดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บางแห่ง โดยให้
ระดมเงินทุนจากสมาชิกสมาคมธนาคารไทยรวม 5,000 ล้านบาท มาให้กู้แก่บริษัทดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้
เปลี่ยนเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์มาเป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินแทน ปัจจุบัน
คงเหลือเงินทุนจำนวน 2,841 ล้านบาทคณะกรรมการกองทุนฯ ประกอบด้วยผู้แทนจาก
กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคาร ก. จำกัด ในการดำเนินกิจการของกองทุนฯ
ดังกล่าว ธนาคารฯ ได้รับค่าบริการสำหรับค่าจัดการจากกองทุนฯ ในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปีของ
ยอดเงินได้กู้ยืม สำหรับการบันทึกบัญชีของกองทุนฯ ได้แยกต่างหากจากการบันทึกบัญชีของธนาคารฯ จึง
ขอทราบว่า
1. ค่าจัดการที่ธนาคารฯ ได้รับจากกองทุนฯ จะต้องเสียภาษีประเภทใด
2. หากธนาคารฯจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเรียกเก็บจากกองทุนฯ ใช่หรือไม่
อย่างไร และเสียในอัตราใด
แนววินิจฉัย: 1. ค่าตอบแทนจากการให้บริการตามข้อเท็จจริง ธนาคารฯ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร
2. การให้บริการตามข้อเท็จจริง เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเฉพาะอย่างที่มิใช่เป็น
กิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการธนาคาร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 91/4
(1) แห่งประมวลรัษฎากรธนาคารฯ จึงมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการจากกองทุนฯ
ดังกล่าว
เลขตู้: 61/26681

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020