เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0813/08519
วันที่: 11 มิถุนายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ้างนิติบุคคลต่างประเทศมาเพื่อฝึกอบรม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40, มาตรา 70 ทวิ, มาตรา 71(1), มาตรา 76 ทวิ, มาตรา 80, มาตรา 80/1(4), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28)
ข้อหารือ: กรมอาชีวศึกษาขอทราบเรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้และหรือภาษีอื่นใดกรณี
กรมอาชีวศึกษาจะว่าจ้างนิติบุคคลต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมทางการฝึกอบรมทาง
การศึกษาเพื่อฝึกอบรมภายในประเทศให้กับ ครู-อาจารย์ ของสถานศึกษาในสาขาวิชาอิเล็คทรอนิกส์
ไฟฟ้าเทคนิคการผลิต ปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมการต่อเรือระยะเวลาการฝึกอบรมระหว่าง 6-16
เดือนด้วยวิธีประกวดราคานานาชาติตามข้อกำหนดของแหล่งเงินกู้จากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
โพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น (OECF)
แนววินิจฉัย: 1. ค่าตอบแทนจากการฝึกอบรมที่นิติบุคคลต่างประเทศได้รับจากรมอาชีวศึกษา ถือเป็น
กำไรธุรกิจตามนัยข้อ 7 ของอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับแคนาดา และ
ความตกลงเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
2. กรณี Southern Alberta Institute of Technology (SAIT) สถาบันฝึกอบรม
ของรัฐบาลประเทศแคนาดา ดำเนินการฝึกอบรม ณ วิทยาลัยเทคนิคระยองเป็นระยะเวลา 11 เดือน
ถือว่า SAIT มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามนัยข้อ 5 วรรค 3 (ข) ของอนุสัญญาเพื่อการ
เว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับแคนาดา
3. กรณี International Training Australia Pty.Ltd. (ITA) และ Sydney
Institure of Technology (SIT) สถาบันฝึกอบรมของประเทศออสเตรเลีย ดำเนินการฝึกอบรม
ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 16 เดือน และ 12 เดือนตามลำดับ ถือว่า ITA และ SIT มี
สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามนัยข้อ 5 วรรค 2 (ฌ) ของความตกลงเพื่อการยกเว้น
การเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
4. สถาบันทั้ง 3 แห่งดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลของต่างประเทศมีลูกจ้างผู้ทำการแทนหรือ
ผู้ทำการติดต่อในประเทศไทยซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ในประเทศไทย ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการ
ในประเทศไทยและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิตามนัยมาตรา 76 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 7 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาฯ ระหว่างไทยกับแคนาดา และความตกลงฯ
ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย โดยลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้มีหน้าที่
และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีในประเทศไทย
ในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่
อย่างใดจะมากกว่า ตามนัยมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยอนุโลม
หากนิติบุคคลดังกล่าวจำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทย ต้องมีหน้าที่เสีย
ภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรที่จำหน่ายออกจากประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
5. ในกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม สถาบันทั้ง 3 แห่งจะได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการกับกระทรวง ทบวง กรม ราชการ
ส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเฉพาะ
การกู้เงินจากรัฐบาลของต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ตามนัยมาตรา 80/1 (4)
แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับ 28)ฯ ลงวันที่ 5
มีนาคม พ.ศ. 2535
6. ในกรณีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเดินทางเข้ามาดำเนินการฝึกอบรมในประเทศไทย ได้เข้ามาอยู่
ในประเทศไทยไม่เกิน 183 วันในปีภาษีที่เกี่ยวข้อง และค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการ
เข้ามาฝึกอบรมได้จ่ายโดยหรือในนามของนายจ้างในประเทศถิ่นที่อยู่ของตน และค่าตอบแทนหรือ
ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการเข้ามาฝึกอบรมในประเทศไทย ไม่ตกเป็นภาระแก่สถานประกอบการถาวร
หรือฐานประกอบการประจำที่นายจ้างมีอยู่ในประเทศไทยผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะอยู่ในข่ายได้รับยกเว้น
ภาษีตามข้อ 15 ของอนุสัญญาฯ ระหว่างไทยกับแคนาดา และความตกลงฯ ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย
แต่หากไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นภาษีครบทั้ง 3 กรณีตามนัยบทบัญญัติข้อ 15 ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวจะ
ต้องนำเงินได้หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่งานในประเทศไทย มายื่นแบบแสดงรายการและ
เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย โดยยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 หรือ 91 แล้วแต่
กรณีภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
7. กรมอาชีวศึกษาซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 ให้แก่นิติบุคคลใด จะต้องคำนวณหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่จ่ายทั้งสิ้น และภาษีที่หักไว้นี้ให้ถือเป็นเครดิตใน
การคำนวณภาษีเงินได้ของนิติบุคคลนั้นตามรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้ กรมอาชีวศึกษามีหน้าที่ต้องยื่น
แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งนำส่งภาษีที่ได้คำนวณหักไว้ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่าย
เงิน
อนึ่ง สำหรับการจ่ายเงินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จะต้องคำนวณเป็นเงินตราไทยตาม
อัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยน ในการคำนวณเงินตรา
ต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป
เลขตู้: 61/26807

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020