เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11384
วันที่: 29 กรกฎาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เงินกู้ของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการ 56 แห่ง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 77/3, มาตรา 91/8, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528
ข้อหารือ: ธนาคาร เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งใหม่ จัดตั้งขึ้นโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น
ทั้งหมด ซึ่งภาระกิจที่สำคัญประการหนึ่งของธนาคารฯ คือ การเข้าร่วมประมูลสินทรัพย์ของ
สถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และโดยที่ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ประกาศการจำหน่ายทอดตลาด เพื่อ
จำหน่ายสินทรัพย์ประเภทเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการในการ
ดำเนินการประมูลสินทรัพย์ดังกล่าวธนาคารฯ จึงหารือเกี่ยวกับภาระภาษีอากร เพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
ให้ถูกต้องต่อไป ดังนี้
1. กรณีที่ธนาคารฯ ประมูลซื้อลูกหนี้เงินกู้ได้ ค่าตอบแทนที่ธนาคารฯ ต้องจ่ายให้กับ
สถาบันการเงิน 56 แห่ง จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. ส่วนต่างที่เกิดจากยอดลูกหนี้คงค้างที่มีต่อเจ้าหนี้เดิม (สถาบันการเงิน 56 แห่ง) กับ
ราคาประมูลของธนาคารฯ (ราคาซื้อลูกหนี้สุทธิ) จะมีภาระภาษีอย่างไร
3. ในการบันทึกมูลค่าของลูกหนี้ ซึ่งมีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยค้างรับ ธนาคารฯ จะบันทึก
มูลค่าลูกหนี้สุทธิตามราคาที่ธนาคารฯ ประมูล ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรที่ถูกต้อง
4. ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การระงับการ
รับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ การจัดชั้นลูกหนี้ การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ที่จัดชั้น และ
มาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2541 ได้กำหนดให้สถาบันการเงินระงับการรับรู้รายได้
ดอกเบี้ย เมื่อลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งแตกต่างจากคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งกำหนดให้ระงับการรับรู้รายได้เมื่อ
ลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป หลักเกณฑ์การระงับการรับรู้รายได้ที่แตกต่างกัน
ดังกล่าว ทำให้ธนาคารฯ มีความยุ่งยากในการจัดทำงบการเงินกรมสรรพากรจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร
เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
5. ในการระงับการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตาม 4. ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีข้อกำหนด
ให้กิจการบันทึกยกเลิกรายการดอกเบี้ยที่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายได้แล้วออกจากบัญชี และเมื่อได้รับชำระหนี้
จากลูกหนี้จึงให้บันทึกรับรู้รายได้ตามเกณฑ์เงินสด ซึ่งมีผลให้รายได้ในเดือนปัจจุบันลดลง กรณีดังกล่าว
ธนาคารฯ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากยอดรายได้ก่อนหรือหลังการปรับปรุงรายการดอกเบี้ยค้างรับ
แนววินิจฉัย: 1. กรณีข้อหารือตาม 1. การโอนขายสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเงินกู้เป็นการขายทรัพย์สินที่
ไม่อยู่ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าตอบแทนในการโอนสิทธิดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/3 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญา
เงินกู้ได้รวมมูลค่าของดอกเบี้ยค้างชำระของลูกหนี้แต่ละรายไว้ด้วย ดังนั้น ในกรณีที่ผู้โอนใช้เกณฑ์เงินสด
ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะผู้โอนจึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากมูลค่าดอกเบี้ยค้างชำระ ตามมาตรา
91/8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเฉลี่ยค่าตอบแทนที่ได้รับตามสัดส่วนระหว่างจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ย
ของลูกหนี้แต่ละราย แล้วนำดอกเบี้ยที่เฉลี่ยได้ดังกล่าว ไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือนภาษีที่ได้รับ
ชำระเงินค่าตอบแทน
2. กรณีข้อหารือตาม 2. ส่วนต่างที่เกิดจากยอดลูกหนี้คงค้างกับราคาซื้อลูกหนี้สุทธิ (ต่อไป
จะเรียกว่า "ส่วนต่าง") ถือเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เงินกู้ ธนาคารฯ
จึงมีภาระภาษีดังนี้
(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล "ส่วนต่าง" ดังกล่าว ธนาคารฯ จะต้องรับรู้เป็นรายได้เพื่อ
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยทยอยรับรู้เป็นรายได้ตามสัดส่วน
ระหว่าง "ส่วนต่าง" กับยอดลูกหนี้คงค้าง กล่าวคือ ธนาคารฯ จะต้องนำเงินที่ได้รับชำระจากลูกหนี้คง
ค้างในแต่ละรายไปเฉลี่ยตามสัดส่วนระหว่าง "ส่วนต่าง" กับยอดลูกหนี้คงค้าง ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำไป
รวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
(2) ภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจาก "ส่วนต่าง" ที่ได้รับ ส่วนหนึ่งเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ
ที่ยังมิได้มีการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะหากเจ้าหนี้เดิม (สถาบันการเงิน 56 แห่ง) ใช้เกณฑ์เงินสดในการ
เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ธนาคารฯ จะต้องนำดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตาม
มาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยธนาคารฯ จะต้องนำรายได้ที่เฉลี่ยได้ตามข้อ 2 (1) ไปเฉลี่ย
ตามสัดส่วนระหว่างดอกเบี้ยค้างชำระกับยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้แต่ละราย ถือเป็นรายรับดอกเบี้ยที่ต้อง
เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในแต่ละเดือนภาษี
อนึ่ง การคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ "ส่วนต่าง" จาก
การจำหน่ายหรือโอนขายสิทธิตามสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงิน 56 แห่ง กรมสรรพากรได้อนุมัติให้
ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีสิทธิใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตาม
มาตรา 65 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และการเปลี่ยนแปลงวิธีการทางบัญชีในการรับรู้รายรับเพื่อ
เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากเกณฑ์สิทธิเป็นเกณฑ์เงินสดในส่วนที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินจากสถาบันการเงิน
56 แห่ง กรมสรรพากรได้อนุมัติให้ผู้รับโอนดำเนินการได้ ตามมาตรา 91/8 วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร
3. กรณีข้อหารือตาม 3. การบันทึกมูลค่าของลูกหนี้ที่ประมูลได้ ธนาคารฯ จะบันทึก
รายการทางบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการทางบัญชีที่ยอมรับกันทั่วไปวิธีใดก็ได้ แต่ในการคำนวณรายได้
เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับส่วนต่างของยอด
ลูกหนี้คงค้างกับราคาซื้อลูกหนี้สุทธิ ธนาคารฯ จะต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 (1)และ (2)
ดังกล่าวข้างต้น
4. กรณีข้อหารือตาม 4. หลักเกณฑ์การระงับการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่าง
ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2541 และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 นั้น กรณีดังกล่าวในขณะนี้กระทรวงการคลังกำลัง
ดำเนินการพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับทางปฏิบัติของผู้ประกอบการ
5. กรณีข้อหารือตาม 5. มาตรา 91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ ผู้มี
หน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เสียภาษีโดยคำนวณรายรับให้เป็นไปตาม วิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติ
ทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้ว ให้ถือปฏิบัติเป็น
อย่างเดียวกันตลอดไปเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น กรณีธนาคารฯ เลือกใช้
เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายรับเพื่อภาษีธุรกิจเฉพาะ ธนาคารฯ ยังคงต้องนำค่าดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระ
(แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระ) ในแต่ละเดือนภาษีไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่หากธนาคารฯ เลือกใช้เกณฑ์
เงินสดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ รายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ค่าดอกเบี้ยที่ได้รับชำระ
จริงในแต่ละเดือนภาษี
เลขตู้: 61/26948

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020