เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.13395
วันที่: 11 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการพิจารณาให้การขายน้ำมันพืชทุกชนิดอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81, มาตรา 81/3, มาตรา 82/3
ข้อหารือ: กรรมการและสมาชิกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม และชมรมโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ได้เสนอ
ขอให้การขายผลผลิตจากอุตสาหกรรมน้ำมันพืชทั้งหมดและทุกประเภททั้งที่เป็นน้ำมันดิบ น้ำมันบริสุทธิ์ และ
ผลพลอยได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้า ไม่เกิดความ
สับสนในการเสียภาษี และช่วยในการจัดเก็บภาษีของรัฐเป็นระบบมากขึ้น และในระหว่างการหารือนั้น
ที่ประชุมเห็นว่า เพื่อความเป็นธรรมในการค้าโดยเฉพาะคือการค้าน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ และผลผลิตจาก
อุตสาหกรรมดังกล่าว เช่นน้ำมันปาล์ม น้ำมันเมล็ดในปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันจากเมล็ดฝ้าย น้ำมัน
ดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ ควรจะอยู่ในระบบ
ภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกันทั้งหมด
ต่อมาสมาคมฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปริมาณผลผลิตน้ำมันพืชทุกชนิดในประเทศมีประมาณ
650 ล้านกิโลกรัม ราคาขายเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2541 อยู่ระหว่าง 30 - 34 บาท
ต่อกิโลกรัม สูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี 2540 กิโลกรัมละ 10 บาท หากน้ำมันพืชอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตั้งแต่ช่วงที่เป็นน้ำมันดิบ จะทำให้กรมสรรพากรมีรายรับของภาษีขายสูงถึง 1,950 - 2,210 ล้านบาท
ดังนั้น สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม จึงขอให้กรมสรรพากร พิจารณาให้การขายผลผลิตจาก
อุตสาหกรรมน้ำมันพืชทุกชนิด ตั้งแต่ขั้นตอนของน้ำมันดิบอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ทั้งนี้ เพื่อ
ความเป็นธรรมทางการค้าและเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของรัฐ
แนววินิจฉัย: กรณีตามตามข้อเท็จจริงดังกล่าว
1. ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 23/2536 เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม
การขายน้ำมันดิบของพืช ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ได้วินิจฉัยว่าการขายน้ำมันดิบของพืชที่ยัง
มิได้แปรรูปหรือแปรสภาพเป็นอาหารไม่ว่าจะมีสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันผสมอยู่
ด้วยหรือไม่ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการขายพืชผลและวัตถุพลอยได้จากพืชที่รักษาสภาพไว้ เพื่อมิให้เสีย เพื่อ
การขายปลีกหรือขายส่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. ตามมาตรา 81/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้กิจการขายสินค้าที่ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกำหนด เพื่อ
ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ตาม
มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้
3. ประเด็นปัญหาที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม และชมรมโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ขอให้
กรมสรรพากรพิจารณาให้น้ำมันพืชทุกชนิด ตั้งแต่ขั้นตอนของน้ำมันดิบอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ปัจจุบัน
ยังไม่สามารถกระทำได้ดังเหตุผลตาม 1.
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหากผู้ประกอบการขายน้ำมันดิบของพืชรายใดต้องการอยู่ใน
ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนดเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้อยู่แล้วตามมาตรา 81/3 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร เพียงแต่กรมสรรพากรไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ประกอบการที่ขายน้ำมันดิบของพืชทุกราย เข้า
ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หากผู้ประกอบการรายนั้นไม่ประสงค์จะขอเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 61/27083

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020