เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.16049
วันที่: 20 พฤศจิกายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าสินค้าที่ผู้ขายไม่ต้องนำไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา79 (4), มาตรา79/2 (1), ประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2535
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ขายสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการ
ส่งเสริมการลงทุนโดยในการนำเข้าสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ได้โอนสินค้าให้ผู้ซื้อเป็นผู้ยื่นกระทำพิธีการ
นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร จึงขอทราบว่า การขายสินค้าในกรณีดังต่อไปนี้ จะเข้าลักษณะ และ
เงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80) เรื่อง กำหนดลักษณะ
และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 หรือไม่ อย่างไร
1. กรณีผู้ซื้อได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับการลดหย่อนค่าอากรขาเข้าร้อยละ
75 และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ซึ่งได้แก่ ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า
บวกด้วยอากรขาเข้าร้อยละ 25
2. กรณีผู้ซื้อได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับการลดหย่อนค่าอากรขาเข้าทั้งหมด
และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ซึ่งได้แก่ ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า
บวกด้วยอากรขาเข้าร้อยละ 100
3. กรณีบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยให้ผู้ซื้อ ซึ่งได้รับการ
ส่งเสริมการลงทุนตามกรณีใน 2. เป็นผู้นำเข้าสินค้าและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทฯ ได้นำสินค้า
ดังกล่าวเก็บไว้ในคลังสินค้า (WAREHOUSE) ของบริษัทฯ โดยจะทยอยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อพร้อมกับ
ออกใบกำกับภาษีขายเป็นเดือน ๆ ดังนี้
ตุลาคม 2541 นำเข้าสินค้า 1,000 ชิ้น
หัก ตุลาคม 2541 ขายสินค้า 100 ชิ้น
พฤศจิกายน 2541 ขายสินค้า 300 ชิ้น
ธันวาคม 2541 ขายสินค้า 500 ชิ้น
มกราคม 2542 ขายสินค้า 100 ชิ้น
คงเหลือ 0 ชิ้น
4. กรณีผู้ซื้อได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับการลดหย่อนค่าอากรขาเข้าร้อยละ
100 และได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
5. กรณีผู้ซื้อได้รับสิทธินำสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
โดยได้รับสิทธิยกเว้นทั้งอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อหารือใน 1. และ 2. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ขายสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้แก่
บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนอากรขาเข้า โดยใน
การนำเข้าสินค้าบริษัทฯ ได้ให้บริษัทผู้ซื้อเป็นผู้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 2 (9) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวม
คำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.
2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80)ฯ ลงวันที่
1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่ขายให้แก่ผู้ซื้อตามกรณีดังกล่าว มารวม
คำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
สำหรับฐานภาษีในการนำเข้าสินค้า ได้แก่ ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกด้วย
อากรขาเข้าภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) ค่าธรรมเนียมพิเศษ (ถ้ามี) และหากผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือ
ลดหย่อนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่น ให้นำอากรขาเข้าซึ่ง
ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนดังกล่าวมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/2 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. กรณีตามข้อหารือใน 3. หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ซื้อสินค้าซึ่งได้รับการส่งเสริม
การลงทุนเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่บริษัทฯ สั่งซื้อจากต่างประเทศ และผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ต่อเจ้าพนักงานศุลกากรไว้แล้ว บริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่ขายให้แก่ผู้ซื้อตามกรณี
ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 2 (9) แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว โดยในการนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของบริษัทฯ เพื่อทยอย
ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในแต่ละครั้ง บริษัทฯไม่ต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้ออีกแต่
อย่างใด
3. กรณีตามข้อ 4 และ 5 ผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้นำเข้าสินค้า แต่มิได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจาก
การนำเข้าสินค้า เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยการ
ส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กรณีตามข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้
กำหนดไว้ในข้อ 2 (9) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อเป็นผู้นำเข้า
สินค้า และต้องมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรด้วย ดังนั้น กรณีดังกล่าว บริษัทฯ ต้อง
นำมูลค่าของสินค้าที่ขายให้แก่ผู้ซื้อมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
เลขตู้: 61/27278

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020