เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/พ.2168
วันที่: 25 ธันวาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินค่านายหน้าให้กับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70, มาตรา 83/6, มาตรา 86/14
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับการแนะนำจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีสถานประกอบการหรือตัวแทนใน
ประเทศไทย โดยทางโทรศัพท์หรือโทรสาร ให้ติดต่อขายสินค้าให้กับลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย
แล้วบริษัทญี่ปุ่นจะส่งใบเรียกเก็บเงินค่าบริการจากบริษัทฯ จึงขอทราบว่าเมื่อบริษัทฯ ส่งเงินค่าบริการ
แนะนำดังกล่าวไปให้บริษัทญี่ปุ่น
1. บริษัทฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ถ้าต้องหัก จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่ายอย่างไร
2. บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งเงินไปให้บริษัทญี่ปุ่น หรือไม่ จะต้องปฏิบัติ
อย่างไร บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย การที่บริษัทฯ จ่ายเงินค่าแนะนำลูกค้าให้กับบริษัท
ญี่ปุ่นเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ เมื่อบริษัทญี่ปุ่น ไม่มีสถานประกอบการ ใน
ประเทศไทยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่าง
ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่
เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505
บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม การแนะนำให้บริษัทฯ ขายสินค้าให้กับลูกค้าในราชอาณาจักร
ของบริษัทญี่ปุ่น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา
77/2 วรรคสามแห่งประมวลรัษฎากร บริษัทญี่ปุ่นจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทญี่ปุ่นเป็น
ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรแต่ได้ให้บริการในราชอาณาจักร และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้จ่ายค่าบริการให้
กับบริษัทญี่ปุ่น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทญี่ปุ่นมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6 (1)
แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งดังกล่าว
ให้ถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งดังกล่าวถือ
เป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 77/1 (18) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27371

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020