เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2418
วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สูญสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี, พระราชกำหนด (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540ฯ
ข้อหารือ: ตามที่ได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.
2540 อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นำ
เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญ หรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันไว้ตาม
กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และ
ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏใน
งบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้
ตามกฎหมายการให้เช่าซื้อของบริษัทเงินทุนไม่ถือเป็นการให้สินเชื่อ เพราะตามกฎหมาย
ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ ไม่มีนิยามคำว่าการให้สินเชื่อ ได้อิงกฎหมายการธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง
กำหนดนิยามคำว่าการให้สินเชื่อไว้ ซึ่งตามนิยามดังกล่าวการให้สินเชื่อไม่รวมถึงการให้เช่าซื้อ ดังนั้น
การกันเงินสำรองฯ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อ จึงไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้
1. การให้เช่าซื้อเป็นธุรกรรมอย่างหนึ่งของการประกอบธุรกิจเงินทุนประเภทกิจการ
เงินทุน เพื่อการจำหน่ายและบริโภค และกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ และเป็นธุรกรรมอย่างหนึ่งของ
การประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ การทำธุรกรรมดังกล่าวถือเป็นการให้สินเชื่อประเภทหนึ่ง การ
ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ และการประกอบธุรกิจเงินทุนมีข้อแตกต่างกันข้อหนึ่งคือ
ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อได้ การให้เช่าซื้อจึงไม่อยู่ในนิยามการให้สินเชื่อของ
ธนาคารพาณิชย์
2. โดยที่กฎเกณฑ์ในการจัดชั้นลูกหนี้และการกันเงินสำรองฯ ที่ธนาคารกำหนดมีผลบังคับใช้
กับลูกหนี้จากการให้เช่าซื้อของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ด้วย ธนาคารจึงขอให้
กระทรวงการคลังโปรดพิจารณาให้การกันเงินสำรองฯ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อดังกล่าวสามารถนำมาหักเป็น
ค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เต็มจำนวนด้วย
3. นอกจากกรณีลูกหนี้เช่าซื้อดังกล่าวแล้วยังมีเงินสำรองฯ ที่สถาบันการเงินต้องกันไว้ตาม
หลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดฯ แต่ไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ได้แก่
ทรัพย์สินที่ได้จากการชำระหนี้และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด กำหนดให้
ต้องกันเงินสำรองร้อยละร้อยสำหรับส่วนของราคาตามบัญชีที่สูงกว่าราคายุติธรรม ซึ่งเป็นภาระที่ค่อนข้าง
หนักสำหรับสถาบันการเงินในช่วงที่กำลังประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ธนาคารจึงขอเรียนเสนอ
กระทรวงการคลังพิจารณาให้สถาบันการเงินสามารถนำเงินสำรองฯ ดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ด้วย
แนววินิจฉัย: 1. ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า"(ค) เงินสำรองที่
กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน
บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมาย
ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เฉพาะ
ส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าว ที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน......"
จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติข้างต้น เงินสำรองฯ ที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายทางภาษีอากร
ได้ต้องเป็นเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญสำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อเท่านั้น และ
การให้เช่าซื้อของการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ดังกล่าว ถือเป็นการให้สินเชื่อ
ประเภทหนึ่ง ดังนั้น บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จึงสามารถนำเงินสำรองที่กันไว้เป็น
ค่าเผื่อหนี้สูญสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อมาถือเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค)แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีการกันเงินสำรองสำหรับทรัพย์สินที่ได้จากการชำระหนี้และเงินลงทุนในหลักทรัพย์
ไม่ถือว่าเป็นหนี้จากการให้สินเชื่อจึงไม่มีสิทธินำเงินสำรองฯ ดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา
65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27514

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020