เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/01761
วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีขอเปลี่ยนวิธีหักขาดทุนสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540
ข้อหารือ: บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะขอเปลี่ยนวิธีหักขาดทุนสุทธิที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
ต่างประเทศที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในปี 2540 (Unrealized) กรณีค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม
2540 ซึ่งบริษัทฯ มียอดขาดทุนทั้งสิ้น 22.7 พันล้านบาท (2.7 พันล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นจริง
และ 20 พันล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ
ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 ให้สิทธิบริษัทฯ เลือกบันทึกขาดทุนสุทธิที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่
ยังไม่เกิดขึ้นจริงเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ บริษัทฯ ได้เลือกวิธีหักขาดทุนสุทธิตามสัดส่วนของมูลค่าสุทธิของ
หนี้ต่างประเทศที่ถึงกำหนดชำระคืนในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มนับหลังจากปี 2540 ซึ่งมีผลให้บริษัทฯ
มียอดขาดทุนสุทธิจำนวน 4,122 ล้านบาท ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีปี 2540 โดยใช้หลักเกณฑ์
ตามข้อ 2 (1) ของคำสั่งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนวิธีการหักขาดทุนจาก
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามาเป็นแบบเส้นตรง 5 ปี ตามข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
72/2540 ฯ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลทำให้ยอดขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2540 ของบริษัทฯ
เปลี่ยนเป็น 8,116 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมาณการการเพิ่มขึ้นของรายได้จาก
อัตราแลกเปลี่ยนในปี 2541 ทั้งนี้จะช่วยให้บริษัทฯไม่ต้องสูญเสียยอดขาดทุนสะสมยกมาจากปี 2537 และ
2538 ที่จะหมดอายุลงในปี 2542 และ 2543 อนึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิก่อน
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับปี 2541 เพียงพอที่จะหักกลบกับขาดทุนสะสมยกมาสำหรับปี 2537 จำนวน
1,132 ล้านบาท บวกกับส่วนหนึ่งของยอดขาดทุนสะสมยกมาจากปี 2538 จำนวน 1,849 ล้านบาท
ตารางสรุปยอดขาดทุนสะสมของบริษัทฯ และการเปลี่ยนแปลงของยอดขาดทุนสะสม กรณี
เปลี่ยนวิธีหักขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนปี 2540 มีดังนี้
ปีภาษี ขาดทุนสุทธิยกมาล้านบาท ปีที่หมดอายุ
2537 1132 2542
2538 1849 2543
2539 2283 2544
2540 เดิม 4122 2545
2540 เปลี่ยนไป 8116 2545
ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผู้เสียภาษีอากรจาก
ผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนทางภาษี และขาดทุนสะสม ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ทยอยตัดผลขาดทุนสุทธิที่
เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงออกเป็นหลาย ๆ ปีภาษี ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้ปฏิบัติตาม
วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้ แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีภาษีที่ต้องชำระในปี 2541 ไม่ว่าจะปฏิบัติตาม
ทางเลือกใดก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นการเร่งให้บริษัทฯ ได้ใช้ขาดทุนสะสมให้เร็วขึ้น และ
อาจทำให้บริษัทฯ กลับไปสู่สถานะที่ต้องนำส่งภาษีเร็วขึ้นด้วย จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาอนุมัติให้
บริษัทฯ เปลี่ยนแปลงวิธีหักขาดทุนสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี
ปี 2540 เป็นต้นไป
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ มีหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของ
รอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เป็นเงินตราต่างประเทศจึงต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็น
เงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคำนวณไว้ตามมาตรา
65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ผลของการคำนวณถ้ามีผลกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคา
หนี้สินดังกล่าว ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายแล้วแต่กรณีในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวได้
ทั้งจำนวน หรือจะเลือกปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม
พ.ศ. 2540 ให้แตกต่างไปจากมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้
2. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้เลือกปฏิบัติตามข้อ 2 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากร
ดังกล่าวโดยนำผลขาดทุนมาถือเป็นรายจ่ายตามส่วนแห่งมูลค่าหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละ
รอบระยะเวลาบัญชี ถือว่าบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิเลือกปฏิบัติให้แตกต่างไปจากมาตรา 65 ทวิ (5)
วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรแล้วและเมื่อเลือกแล้ว ต้องถือปฏิบัติตลอดไป บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิ
เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาหนี้สินดังกล่าวได้อีกแต่อย่างใด
เลขตู้: 62/27571

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020