เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.02157
วันที่: 8 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 9, มาตรา 80, มาตรา 82/5, มาตรา 82/9, มาตรา 82/10, มาตรา 86/4, มาตรา
86/9, มาตรา 86/10, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.33/2536 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการส่งออกสินค้าประเภทแชมพู สบู่เหลว สบู่ก้อน และของใช้ที่โรงแรม
จัดให้กับลูกค้าที่มาพักในโรงแรม รายละเอียดการขายสินค้าดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
1. บริษัทฯ ขายสินค้าโดยการส่งออกให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งผู้ซื้อในต่างประเทศเป็น
ผู้สั่งซื้อมายังบริษัทฯ บริษัทฯ จะซื้อสินค้าจากผู้ขายในประเทศและส่งออกสินค้านั้นไปยังต่างประเทศใน
นามของบริษัทฯ เอง แต่เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันมาก การเสนอราคาสินค้าให้แก่ผู้ซื้อใน
ต่างประเทศจึงกำหนดอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 1.5 ของราคา เอฟ.โอ.บี. การคำนวณราคาสินค้าตาม
อินวอยซ์ที่แจ้งไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อในต่างประเทศจะชำระราคา
สินค้าโดยโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทฯ
2. ในช่วงปี 2539-2540 ประเทศไทยประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง ผู้ขายใน
ประเทศและบริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยมีข้อตกลงว่า ในวันส่ง
ของ ผู้ขายในประเทศออกใบส่งของโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามที่ตกลงกัน 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์
สหรัฐ เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศแล้วก็จะชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายใน
ประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันชำระเงินเป็นเท่าใด ผู้ขายในประเทศจะออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ให้
แก่บริษัทฯ ต่อไป
3. บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดขายจากการส่งออกสินค้าซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษี
มูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ทำให้บริษัทฯ มีภาษีมูลค่าเพิ่มชำระไว้เกิน จึงได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
4. บริษัทฯ ขอทราบว่า
(ก) บริษัทฯ สามารถนำใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ มาถือเป็นต้นทุนขายของบริษัทฯ ได้
หรือไม่และมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเพิ่มหนี้ไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
(ข) บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการส่งออกสินค้าหรือให้บริการจัดซื้อสินค้าให้แก่ผู้ซื้อใน
ต่างประเทศ
แนววินิจฉัย: 1. ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรและมีชื่อในใบขนสินค้า
ขาออกประกอบกับแนวทางปฏิบัติสำหรับการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.33/2536 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2536 บริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ และผู้ขายในประเทศได้ตกลงซื้อขายสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยมี
ข้อตกลงการชำระเงินค่าสินค้าว่า ถ้าอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันชำระค่าสินค้าเปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ขายใน
ประเทศออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนได้ ผู้ขายในประเทศและ
บริษัทฯ ต้องดำเนินการดังนี้
(1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ขายในประเทศต้องออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยแสดงมูลค่าของสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราไทยโดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน
เงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนใน
การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไปตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร และ
ต่อมาถ้าอัตราแลกเปลี่ยนได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง ผู้ขายในประเทศไม่ต้องยกเลิก
ใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้แก่บริษัทฯ เนื่องจากไม่ใช่กรณีการออกใบกำกับภาษี
ที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดี
กรมสรรพากรกำหนดตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้หรือ
ใบลดหนี้ตามมาตรา 86/9 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 82/9 และมาตรา 82/10 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีผู้ขายในประเทศออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงไม่
เข้าลักษณะเป็นใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเพิ่มหนี้ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มี
สิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ในกรณีผู้ขายในประเทศออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา 86/9
และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นเอกสารทางบัญชีของผู้ขายในประเทศและบริษัทฯ ถ้า
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ จ่ายเงินตามใบเพิ่มหนี้ให้แก่ผู้ขายในประเทศ หรือได้รับเงินตามใบลดหนี้
จากผู้ขายในประเทศ ตามข้อตกลงการซื้อสินค้าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำจำนวนเงิน
ค่าสินค้าตามใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ไปถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขายได้
เลขตู้: 62/27608

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020