เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.02174
วันที่: 8 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1, มาตรา 82/3, มาตรา 82/4, มาตรา 82/5, มาตรา 92/1,
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342)
พ.ศ. 2541
ข้อหารือ: 1. บริษัท ก จำกัด สถานประกอบการตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประกอบการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทภาษีขายหักภาษีซื้อ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2539 ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์
MERCEDES BENZ และเป็นศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวด้วย
2. อาคารสถานประกอบการของบริษัทปลูกสร้างบนที่ดินของนาง ข ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำ
สัญญาเช่ามีกำหนด 20 ปี ได้จดทะเบียนสิทธิเช่าไว้ต่อกัน โดยมีเงื่อนไขว่า บรรดาสิ่งปลูกสร้างหรือ
ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าสร้างลงไปในที่ดินที่เช่าให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันที เมื่อครบกำหนด
ระยะเวลาเช่าตามสัญญาหรือสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม
3. ระหว่างการตรวจคืนภาษี ปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ทำสัญญาขายกิจการและทรัพย์สินให้กับ
บริษัท ค จำกัด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 โดยทรัพย์สินที่ขายตามสัญญาประกอบด้วยสิทธิการเช่าที่ดิน
อาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ซึ่งบริษัทฯ ใช้เป็นสถานประกอบการ เครื่องใช้สำนักงาน
เครื่องตกแต่งเครื่องมือช่าง เครื่องอุปกรณ์ในศูนย์บริการ ทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ ในอาคาร และสิทธิใน
การใช้เครื่องหมายลิขสิทธิ์ MERCEDES BENZ กำหนดราคาขายรวมภาษีทั้งสิ้น 25,000,000 บาท
ตกลงส่งมอบทรัพย์สินภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าและ
อาคารสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการ
4. บริษัทฯ ได้นำรายรับจากการขายกิจการและทรัพย์สิน ยื่นแบบเสียภาษี 2 ประเภท คือ
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับทรัพย์สินอื่น และชำระภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนของอาคารและสิทธิการเช่า
สำหรับเดือนภาษีที่มีการรับชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์คือเดือนมิถุนายน 2540 และพฤศจิกายน 2540
ขอทราบว่า บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัท ฯ ได้ทำสัญญาขายกิจการและทรัพย์สินให้แก่ บริษัท ค
จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 โดยมิได้แจ้งเลิกกิจการ แต่ข้อเท็จจริงมิได้แสดงว่าเมื่อบริษัทฯ ขาย
กิจการไปแล้ว บริษัทฯ ยังคงมีรายได้ หรือยังคงประกอบกิจการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือไม่ กรณีจึงต้องแยกพิจารณาดังนี้
(1) กรณีบริษัทฯ ยังคงตั้งอยู่แต่ไม่ได้ประกอบกิจการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษี
มูลค่าเพิ่ม หรือไม่มีรายได้อื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือบริษัทฯ ได้แจ้งเลิกกิจการ
การขายกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ จะมีภาระภาษีดังนี้
ก. กรณีบริษัทฯ ขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่ง
เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่
สิทธิการเช่าที่ดิน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องตกแต่ง เครื่องมือช่าง เครื่องอุปกรณ์ ทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ
และสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า นั้น ไม่ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนขายทรัพย์สินดังกล่าว
ข. กรณีบริษัทฯ ขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่งได้แก่ อาคารและ
สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า นั้น ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตาม
มาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์
เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจาก
การโอนขายทรัพย์สินดังกล่าว ตามมาตรา 92/1 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีบริษัทฯ โอนขายกิจการและทรัพย์สินไปแล้ว แต่บริษัทฯ ยังคงตั้งอยู่เพื่อ
ดำเนินกิจการอื่นต่อไป หรือมีรายได้จากการประกอบกิจการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
การขายกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ จะมีภาระภาษีดังนี้
ก. กรณีบริษัทฯ ขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่ง
เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็น
การโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 77/1 (8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ค
ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ข. กรณีบริษัทฯ ขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่งได้แก่ อาคารและ
สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า นั้น ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตาม
มาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์
เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจาก
การโอนขายทรัพย์สินดังกล่าว ตามมาตรา 92/1 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับกรณีตาม (1) ข.
2. กรณีบริษัทฯ ปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ระหว่างวันที่ 14 มกราคม
2540 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2541 โดยมีเงื่อนไขว่าบรรดาสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินใดๆ ที่ผู้เช่าสร้าง
ลงไปในที่ดินที่เช่า ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญา (20 ปี)
หรือเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ขายอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 17
มิถุนายน 2540 จึงถือเป็นการขายอาคารฯ ที่ใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกระทำภายในสาม
ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร จึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามนำไปหัก
ออกจากภาษีขาย ตาม ข้อ 2 (4) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2535
เลขตู้: 62/27616

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020