เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/02740
วันที่: 25 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่าและบริการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78/1, มาตรา 79, มาตรา 81, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541ฯ, ป.74/2541ฯ และที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กระทรวงการคลัง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เป็นต้น ได้เช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังสระปทุม จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อพัฒนาที่ดิน โดย
สร้างโรงแรม ศูนย์การค้า ตลอดจนอาคารจอดรถ ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่
ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่เป็นศูนย์การค้า และให้บริการในพื้นที่ส่วนกลางตลอดจนให้บริการที่จอดรถ ใน
การให้เช่ามีการทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการระยะสั้นเป็นสัญญาแยกอย่างละฉบับไม่รวมกัน อายุสัญญา
โดยปกติไม่เกิน 3 ปี และมีการเรียกเก็บเงินประกันสัญญาเช่าและสัญญาบริการอันเป็นขนบธรรมเนียม
ประเพณีทางธุรกิจ เป็นจำนวน 6 เท่าของค่าเช่าและค่าบริการรายเดือน โดยมีเงื่อนไขจะคืนเงิน
ประกันให้แก่ผู้เช่าเต็มจำนวนเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง เว้นแต่ว่ากรณีผู้เช่าปฏิบัติผิดสัญญา บริษัทฯ มีสิทธิหักเงิน
ประกันเพื่อชดใช้ความเสียหายตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าได้
1. บริษัทฯ เห็นว่า เงินประกันสัญญาเช่าและสัญญาบริการที่บริษัทฯ เรียกเก็บเงินประกันที่
เข้าลักษณะตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ข้อ 3 (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ไม่อยู่ในข่ายที่บริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ใน
การคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีในปีที่ได้รับเงินมัดจำ หรือนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในปีที่จ่ายเงินมัดจำคืน ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ข้อ 2 (1)
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
2. ถ้าความเข้าใจของบริษัทฯ ตามข้อ 1 ถูกต้อง ผู้เช่าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมัดจำสัญญาเช่า
และสัญญาบริการก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินมัดจำที่จ่ายให้บริษัทฯ ตาม
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ข้อ 2 (2) ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริงเงินประกันการเช่าพื้นที่อาคารและให้บริการที่จอดรถแยกพิจารณา
ได้ดังนี้
1.1 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
(1) เงินประกันการเช่าพื้นที่อาคาร ซึ่งมีอายุการเช่าไม่เกิน 3 ปี และมีการ
เรียกเก็บเงินประกันการเช่าไม่เกิน 6 เท่าของค่าเช่ารายเดือน บริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินประกันข้างต้น
มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด ตามข้อ 3 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 เรื่อง
การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน
เงินมัดจำ หรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคมพ.ศ. 2541
(2) กรณีเงินประกันการเช่าพื้นที่อาคาร นอกจาก (1) บริษัทฯ ต้องนำมารวม
คำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้เช่าทรัพย์สิน หรือจะนำรายได้นั้นมาเฉลี่ยตามส่วนแห่ง
จำนวนปีตามสัญญา และนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชี
ที่เริ่มให้เช่าทรัพย์สินก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (1) (ก) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ
ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541
(3) เงินประกันการเช่าอุปกรณ์เครื่องใช้ บริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่เรียกเก็บหรือ
พึงเรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินก้อนเพื่อตอบแทนการให้เช่าอุปกรณ์เครื่องใช้ทั้งจำนวนมารวมคำนวณเป็น
รายได้เช่นเดียวกับ (2)
(4) เงินประกันการให้บริการที่จอดรถ บริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่เรียกเก็บหรือพึง
เรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินก้อนมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้บริการ หรือจะ
นำรายได้นั้นมาเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีตามสัญญาแต่ไม่เกินสิบปี และนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ใน
แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่ปีที่เริ่มให้บริการก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (1) (ก) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541
1.2 กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
(1) กรณีการให้เช่าทรัพย์สินนอกจาก 1.1 (1) เงินประกันที่จ่ายถือเป็นการ
จ่ายเงินได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินทั้งจำนวน ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา
ร้อยละ 5.0 ทุกครั้งที่มีการจ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน
พ.ศ. 2528
(2) กรณีการให้บริการอื่น ๆ เงินประกันที่จ่ายถือเป็นเงินได้เนื่องจากการ
ให้บริการทั้งจำนวน ถ้าการให้บริการนั้นเป็นบริการรับจ้างทำของผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างทำของ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30
มิถุนายน พ.ศ. 2541
1.3 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) กรณีการให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ หรือการให้บริการอื่น ต้องนำ
เงินประกันทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้เช่าทรัพย์สิน หรือการให้บริการอื่น มารวมคำนวณเป็น
มูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เกิดขึ้นในขณะได้รับชำระเงินดังกล่าวตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เงินประกันที่เรียกเก็บถือเป็นส่วนหนึ่งของ
ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (3) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30
มิถุนายน พ.ศ. 2541
2. กรณีคำว่า "เงินก้อน" ตาม 1.1(3)-(5) ถ้ามีการเรียกเก็บเงินประกันหรือ
เงินมัดจำเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นเงินก้อน
(ก) โดยขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจได้มีการเรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำ
(ข) ต้องมีการคืนเงินประกัน หรือเงินมัดจำให้แก่ผู้เช่าหรือผู้รับบริการทันทีที่สัญญา
สิ้นสุดลงโดยไม่มีเงื่อนไข แต่กรณีเกิดความเสียหาย ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้บริการมีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้
(ค) เงินประกัน หรือเงินมัดจำที่เรียกเก็บต้องไม่เกิน 6 เท่าของค่าเช่าหรือ
ค่าบริการรายเดือนและ
(ง) สัญญาการให้เช่าทรัพย์สินหรือการให้บริการมีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี
ดังนั้น กรณีเงินประกันการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ หรือการให้บริการอื่น ถ้ามีการ
เรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะไม่ถือเป็นเงินก้อน จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และไม่ต้องถูกหักภาษี
เงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
เลขตู้: 62/27697

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020