เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.05187
วันที่: 2 มิถุนายน 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อจากการใช้พื้นที่อาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1, มาตรา 77/2, มาตรา 81, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท เอ จำกัด ขอเฉลี่ยภาษีซื้อจากการใช้พื้นที่อาคารของใบกำกับภาษีซื้อก่อนเริ่มเปิด
ดำเนินการ บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 ประกอบกิจการขายปลีก
ห้างสรรพสินค้าบริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) ซึ่งใช้ประกอบกิจการของตนเองซึ่ง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและให้เช่าโดยได้ยื่นแบบ ภ.พ.05.1 ดังนี้
พื้นที่ (ตารางเมตร) %
จำนวนเนื้อที่ที่บริษัทใช้เอง (รวมพื้นที่ส่วนกลาง) 30,286.50 73.76
จำนวนเนื้อที่ที่แบ่งให้เช่า 10,772.25 26.24
รวมเนื้อที่ทั้งหมด 41,058.75 100
จากตาราง บริษัทฯ ขอเฉลี่ยภาษีซื้อโดยการคำนวณจากพื้นที่ที่แบ่งให้เช่า รวมจำนวน
เนื้อที่ 10,772.25 ตารางเมตร หักออกจากพื้นที่ทั้งหมด ที่เหลือคือพื้นที่ที่ใช้เป็นเกณฑ์คำนวณที่ได้รับสิทธิ
เครดิตภาษีซื้อโดยบริษัทฯ ชี้แจงว่า ในการทำสัญญาให้เช่าพื้นที่อาคารแก่ผู้เช่าทุกราย ต้องประกอบด้วย
สัญญา 3 สัญญา คือ
(1) สัญญาเช่าพื้นที่อาคาร พร้อมข้อตกลงวางเงินประกันสัญญา
(2) สัญญาบริการสาธารณูปโภค โดยจัดให้มีบริการดังต่อไปนี้
(ก) การจัดให้มีระบบไอเย็นของเครื่องปรับอากาศในบริเวณสถานที่เช่า
(ข) การจัดระบบไอเย็นบริเวณภายนอกสถานที่เช่าภายในบริเวณห้างสรรพสินค้า
เพื่อประโยชน์ของสถานที่เช่า และผู้รับบริการ
(ค) การจัดให้มีระบบลิฟท์ผู้โดยสารและลิฟท์ขนสินค้าในห้างสรรพสินค้า เพื่อ
ประโยชน์ของสถานที่เช่า และผู้รับบริการ
(ง) การจัดให้มีระบบป้องกันภัยหรืออัคคีภัยในบริเวณสถานที่เช่า และบริเวณ
ภายนอกสถานที่เช่า ภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อประโยชน์ของผู้บริการ
(จ) การจัดให้มีระบบไฟฟ้า แสงสว่างบริเวณภายนอกสถานที่เช่า ภายในบริเวณ
ห้างสรรพสินค้า เพื่อประโยชน์ของสถานที่เช่าและผู้รับบริการ
(ฉ) การจัดให้มีระบบประปาบริเวณภายนอกสถานที่เช่าภายในบริเวณ
ห้างสรรพสินค้า เพื่อประโยชน์ของสถานที่เช่า และผู้รับบริการ
(ช) การจัดให้มีระบบดูดควันสำหรับร้านค้าที่ประกอบกิจการประเภทอาหาร
(3) สัญญาบริการส่วนกลาง โดยจัดให้มีบริการดังต่อไปนี้
(ก) การให้บริการรักษาความปลอดภัยบริเวณภายนอกของสถานที่เช่า
(ข) การให้บริการบำรุงรักษา และซ่อมแซมห้องสุขาของศูนย์การค้าเพื่อ
ประโยชน์ของสถานที่เช่า
(ค) การให้บริการบำรุงรักษาความสะอาดบริเวณภายนอกสถานที่เช่า ได้แก่
ทางออกภายนอกสถานที่เช่า ทางเดิน บันได ระเบียง และส่วนต่าง ๆ ที่จัดไว้เพื่อประโยชน์ของผู้รับ
บริการ
(ง) การกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งผู้รับบริการจะต้องนำขยะมูลฝอยมาไว้ในสถานที่ที่
บริษัทได้จัดไว้ให้
(จ) การประดับตกแต่ง การซ่อมแซม และบริเวณอื่นที่จำเป็นในบริเวณภายนอก
สถานที่เช่า ซึ่งบริษัทเห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่สถานที่เช่าของผู้รับบริการ
(ช) การจัดให้มีไอเย็นปรับอากาศในบริเวณสถานที่เช่า ตามระยะเวลาที่ระบุไว้
ในสัญญา
(ซ) การจัดให้ผู้รับบริการมีสิทธิใช้โทรศัพท์
(ฌ) การจัดให้มีบริการน้ำประปาตามสถานที่ที่บริษัทจัดไว้ให้
(ญ) การจัดให้มีไฟฟ้าในบริเวณสถานที่เช่า
(ฎ) การจัดให้มีบริการดูดควัน สำหรับร้านค้าที่ประกอบกิจการประเภทอาหาร
สัญญาบริการสาธารณูปโภคตาม (2) และสัญญาบริการส่วนกลางตาม (3) บริษัทฯ
เรียกเก็บค่าบริการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนที่แน่นอนตามสัดส่วนของพื้นที่เช่า ดังนั้น พื้นที่ที่ใช้
เกี่ยวข้องกับ 2 สัญญานี้ จึงเป็นพื้นที่ที่ใช้เอื้ออำนวยในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นจึงไม่นำมา
เฉลี่ยภาษีซื้อ
บริษัทฯ จึงควรได้รับสิทธิขอเครดิตภาษี
จากตาราง SALABLE AREA พื้นที่ตารางเมตร %
จำนวนเนื้อที่ให้เช่า (NON-VAT) 9,655.50 52.22
จำนวนเนื้อที่ของ บริษัทฯ (VAT) 8,833.00 47.78
รวม 18,488.50 100
จากตาราง SALABLE AREA
พื้นที่ตารางเมตร %
จำนวนเนื้อที่เฉลี่ย (NON-VAT) 11,786.18 52.22
จำนวนเนื้อที่ของ (VAT) 10,784.07 47.78
รวม 22,570.25 100
จากตาราง SALABLE AREA จังหวัดได้คำนวณพื้นที่ที่บริษัทฯ แบ่งให้เช่าที่แยกได้
ชัดเจนแล้วนำมาเฉลี่ยหาอัตรา % สำหรับส่วนที่มี (VAT) และไม่มี (VAT) และจึงนำมาเปรียบเทียบกับ
ตาราง NON-SALABLE AREA และหาเปอร์เซ็นต์ย้อนกลับ จังหวัดจึงได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้บริษัทฯ
เฉลี่ยอัตรา VAT : NON VAT = 47.78 : 52.22
ในรายการที่ 8 Plaza Gross Aria ซึ่งหมายถึง บริเวณทางเดินของชั้นที่ 1 ซึ่ง
บริษัทฯ ให้เช่าทั้งชั้น ควรเป็นพื้นที่ NON VAT ด้วย
ในรายการที่ 11 Power Buy คือ บริเวณที่บริษัทฯ ให้เช่าพื้นที่อาคารขาย
เครื่องไฟฟ้าและเรียกเก็บค่าบริการในอัตรา 2.75% ของยอดขาย โดยมีการให้บริการน้ำประปาไม่รวม
ค่าไฟฟ้าเป็นกรณีที่บริษัทฯ มิได้ส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้โดยเด็ดขาดเป็นการหาประโยชน์อันมีมูลค่า
ตามมาตรา 77/1 (10)
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว สำหรับพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่ใช่พื้นที่เช่าและพื้นที่ที่บริษัทฯ ใช้
ประกอบกิจการของบริษัทฯ เอง ซึ่งบริษัทฯ ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวก่อให้เกิดบริการส่วนกลางแก่พื้นที่เช่าและ
ผู้รับบริการ เช่น จัดทำลานจอดรถ จัดทำระบบไอเย็นจัดทำระบบลิฟท์ จัดทำระบบป้องกันภัย จัดทำระบบ
ไฟฟ้าจัดทำระบบประปา จัดทำทางเดิน จัดทำระบบสุขาภิบาล ฯลฯ ซึ่งการให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะ
เป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การใช้พื้นที่ส่วนกลางที่ก่อให้เกิดบริการส่วนกลาง จึง
เป็นการนำพื้นที่ไปใช้ในกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงต้องนำ
พื้นที่ส่วนกลางไปรวมกับพื้นที่ที่บริษัทฯ ใช้ประกอบกิจการเองโดยถือเป็นพื้นที่ที่นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ของข้อ 5 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา
82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม 2535
2. สำหรับพื้นที่ในส่วนของ Plaza Gross Aria ซึ่งเป็นบริเวณทางเดินชั้นที่ 1 ซึ่งเป็น
ชั้นที่บริษัทฯ ให้เช่าทั้งชั้น เนื่องจากทางเดินเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่บริษัทฯ ได้นำไปให้บริการเพื่อประโยชน์
แก่ผู้รับบริการตามสัญญาบริการ ซึ่งเป็นการนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเกี่ยวเนื่อง
โดยตรงกับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นพื้นที่ในส่วนนี้จึงถือเป็นพื้นที่ที่นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
3. สำหรับพื้นที่ในส่วนของ Power Buy ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งโดยบริษัทฯ ให้ผู้เช่าใช้พื้นที่
อาคารขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และเรียกเก็บค่าบริการในอัตราร้อยละ 2.75 ของยอดขาย และมีการ
ให้บริการน้ำประปาโดยไม่รวมค่าไฟฟ้า โดยมิได้มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้โดยเด็ดขาดการให้
ใช้พื้นที่อาคารดังกล่าวจึงถือเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร แต่
อย่างใด บริษัทฯ จึงต้องนำค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ดังนั้น พื้นที่ในส่วนของ Power Buy จึงเป็นพื้นที่ที่นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษี
มูลค่าเพิ่มบริษัทฯ ต้องนำไปรวมเป็นพื้นที่ในส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเฉลี่ย
ภาษีซื้อต่อไป
เลขตู้: 62/27867

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020