เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.05368
วันที่: 8 มิถุนายน 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2
ข้อหารือ: บริษัทสายการบิน เอ จำกัด โดยบริษัท บี จำกัด กระทำการแทนเป็นผู้ประกอบการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีสิงหาคม
2540 ขอคืนภาษีเป็นเงินสดจำนวน 335,073.58 บาท ผลการตรวจปฏิบัติการ ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัทฯ จดทะเบียนประเภทของการประกอบการในแบบ ภ.พ.01 ระบุว่า ให้บริการ
เป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสารเครื่องบิน บริษัทฯ ดำเนินกิจการจำหน่ายตั๋วโดยสารเครื่องบินและ
ให้บริการขนคนและสินค้าโดยอากาศยาน ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้ยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียน
(ภ.พ.09)
2. การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ชำระโดยการคำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ บริษัทฯ เป็น
นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
3. บริษัทฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2533 โดยได้ตั้งบริษัท บี จำกัด เป็น
ตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสารเครื่องบินในประเทศไทย เดิมบริษัทฯ ได้นำอากาศยานของบริษัทฯ เข้ามารับ
ขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ณ ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 0
ต่อมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 ถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่ได้นำอากาศยานของตนเองเข้า
มารับขนคนโดยสารและสินค้า ณ ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย แต่จะนำคนและสินค้าโดยสารกับ
อากาศยานของสายการบินอื่นที่บริษัทฯ มีข้อตกลงจองพื้นที่ไว้แน่นอนออกจากท่าอากาศยาน
แห่งประเทศไทย เพื่อไปขึ้นอากาศยานของบริษัทฯ ที่สิงคโปร์ เพื่อต่อไปประเทศปลายทาง และกรณี
บริษัทฯ นำคนโดยสารและสินค้าเข้ามาในประเทศไทยก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน สำหรับ
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการ ณ ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย บริษัทฯ ก็ยังคงจ่ายเสมือนว่าได้นำ
อากาศยานเข้ามาในประเทศไทย
แนววินิจฉัย: กรณีดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 บริษัทฯ ไม่ได้นำอากาศยานเข้ามารับคนโดยสาร
และสินค้าจากประเทศไทย แต่จะทำการรับขนส่งช่วงต่อจากสายการบินอื่นจากประเทศสิงคโปร์ไปยัง
จุดหมายปลายทางจึงไม่ได้เป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27884

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020