เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.06519
วันที่: 6 กรกฎาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการหอพักคุรุสภา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1, มาตรา 77/2, มาตรา 85, มาตรา 89, มาตรา 89/1, มาตรา 90/2,
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 ฯ
ข้อหารือ: องค์การฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 เนื่องจากองค์การฯ
ได้จัดที่พักให้แก่สมาชิก "หอพักองค์การฯ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกองค์การฯ
ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ไม่ได้เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป มีอัตราค่าบำรุงห้องพักตามที่ระเบียบ
องค์การฯกำหนด ขอทราบว่า
1. องค์การฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
2. การประกอบกิจการหอพักเพื่อเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกองค์การฯ อยู่ในบังคับที่จะ
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หากต้องเสีย องค์การฯ ขอความอนุเคราะห์ต่อกรมสรรพากร เพื่องดเว้น
การเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย
แนววินิจฉัย: 1. สำนักงานเลขาธิการองค์การเป็นหน่วยงานหนึ่งในองค์การฯ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล
ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2488 ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่ง
ประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้แต่อย่างใด ดังนั้น รายได้จากค่าเช่าห้องพักตาม
ข้อเท็จจริงดังกล่าวองค์การฯ ไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้แต่ประการใด
2. การให้บริการเช่าห้องพักของหอพักองค์การฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น
การให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
3. เนื่องจากตามข้อเท็จจริง องค์การฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วในนามของ
องค์การค้าขององค์การฯ ซึ่งองค์การค้าขององค์การฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การฯ กรณีจึงถือว่า
องค์การฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ตามข้อเท็จจริงจึงเป็นกรณีองค์การฯ ได้ยื่น
แบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไปและจำนวนภาษีขายที่
แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป องค์การต้องเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อน ตามมาตรา
89 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป ตาม
มาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีมิได้จัดทำใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการจึง
ต้องเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 89 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
เพราะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา
90/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของ
เงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากองค์การฯ สำคัญผิดในข้อกฎหมาย และไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี
จึงให้ลดเบี้ยปรับตามมาตรา 81 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงคงให้เสียในอัตราร้อยละ 2
ของเบี้ยปรับ และให้งดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ทั้งนี้ องค์การฯ ต้องยื่น
แบบเพิ่มเติมและชำระภาษีดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 89
วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง
ระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา
91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 สำหรับเงินเพิ่มกรมสรรพากรไม่มี
อำนาจพิจารณางดหรือลดให้ได้แต่ประการใด
4. ตามข้อเท็จจริง การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขององค์การฯ ยังไม่ถูกต้องเพราะได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในนามขององค์การค้าขององค์การฯ ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องจดทะเบียนในนามของ
องค์การที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ (สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่) ที่เป็น
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ทั้งนี้ ตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จึงขอให้องค์การฯ ได้โปรดนำ
ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.20) ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วนั้น มายื่นต่อสำนักงาน
ภาษีสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การตั้งอยู่ เพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป
เลขตู้: 62/27981

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020