เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.07217
วันที่: 21 กรกฎาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกน้ำตาลทรายโดยผ่านตัวแทนในการส่งออก
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.41/2537ฯ
ข้อหารือ: จังหวัดฯ ได้ทำการตรวจปฏิบัติการกรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของโรงงานผู้ผลิต
น้ำตาลทราย รายบริษัท ก จำกัด สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2540 และตุลาคม 2540 ผลการตรวจ
ปฏิบัติการปรากฏว่าในการส่งออกน้ำตาลทรายผ่านตัวแทนการส่งออกบางรายการ บริษัทฯ ไม่สามารถ
ส่งมอบหลักฐานตามข้อ 2 (3) และ (4) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.41/2537ฯ ลงวันที่ 17
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 และการส่งออกบางรายการ บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบหลักฐานตามข้อ 2 (6)
และ (7) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบได้ โดยบริษัทฯ ได้ชี้แจง
ว่า
กรณีที่บริษัทฯ ส่งออกน้ำตาลทรายโดยทางรถยนต์บรรทุก บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบ แบบ
กน.9 (คำร้องขอรับหนังสืออนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร) และแบบ กน.10 (หนังสือ
อนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร) ให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบได้ เนื่องจาก แบบ
กน.9 และแบบ กน.10 เป็นแบบฟอร์ม กอน. กำหนดให้ใช้ในกรณีที่โรงงานน้ำตาลส่งออกน้ำตาลทราย
โดยทางทะเล ส่วนในกรณีที่เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายทางบก กอน. กำหนดให้ใช้แบบ กน.51 เป็น
คำร้องขอรับหนังสืออนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร และแบบ กน.6.1 เป็นหนังสือ
อนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งบริษัทฯ ได้ส่งมอบให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบ
แล้ว
ในการส่งออกบางรายการ บริษัทฯ ไม่ได้จัดทำหลักฐานการรับมอบน้ำตาลทรายลงเรือหรือ
บรรทุกรถยนต์ โดยบริษัทฯ ได้ส่งมอบหลักฐานหนังสือกำกับการขนย้าย ซึ่งแสดงถึงประเภท ชนิด และ
ปริมาณของน้ำตาลทรายที่ส่งออก เพื่อให้เจ้าพนักงานใช้ประกอบการพิจารณาในการตรวจสอบ
รายงานสินค้าและวัตถุดิบเกี่ยวกับชนิดของสินค้าที่ตัวแทนได้รับมอบจากบริษัทฯ สำหรับการ
ส่งออกบางรายการ บริษัทฯ ไม่สามารถติดตามจากตัวแทนซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวได้
ขอทราบว่า การส่งออกน้ำตาลทรายโดยผ่านตัวแทนในการส่งออก โรงงานน้ำตาลจะได้รับ
สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จะต้องมีหลักฐานตามข้อ 2 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
41/2537 ฯ ครบถ้วนทุกรายการ แต่บริษัทฯ ส่งมอบหลักฐานให้เจ้าพนักงานตรวจสอบได้เพียงบางรายการ
เท่านั้น กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออก แต่จะถือว่าเป็นการขายภายในประเทศ ถูกต้อง
หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 41/2537 เรื่อง การส่งออกน้ำตาลทรายที่
ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.
2537 ได้กำหนดให้การส่งออกน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลโดยผ่านตัวแทนในการส่งออก หากได้รับ
อนุญาตจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลทรายตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายโดยครบถ้วน
ให้ถือว่าโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ส่งออกแต่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จะต้องมี
หลักฐานแสดงว่าโรงงานน้ำตาลได้ส่งออกน้ำตาลทรายโดยผ่านตัวแทนการส่งออกจริง ซึ่งได้แก่หลักฐาน
ตามข้อ 2 (1) - (7) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
2. อย่างไรก็ดี เพื่อให้คำสั่งกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าวมีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ และ
ให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ หากในการตรวจสอบของเจ้าพนักงานปรากฏข้อเท็จจริงว่า โรงงาน
น้ำตาลไม่สามารถส่งมอบหลักฐานตามข้อ 2 (1) - (7) รายการใดรายการหนึ่งให้เจ้าพนักงานทำ
การตรวจสอบ แต่ในชั้นการตรวจสอบไต่สวนปรากฏเอกสารหลักฐานอื่นที่สนับสนุนให้เชื่อถือได้ว่าโรงงาน
น้ำตาลมีการส่งออกน้ำตาลทรายโดยผ่านตัวแทนการส่งออกตามประเภท ชนิด และปริมาณที่ได้แจ้งไว้กับ
กอน. จริง กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ส่งออกซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0
3. กรณีข้อเท็จจริงตามข้อหารือ พิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีการส่งออกบางรายการ บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบแบบ กน.9 และแบบ
กน.10 ซึ่งเป็นหลักฐานตามข้อ 2 (3) และ (4) ของคำสั่งฯ ให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบนั้น เมื่อ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการส่งออกน้ำตาลทรายทางบก กอน. ได้กำหนดให้ใช้แบบ กน.51 เป็น
คำร้องขอรับหนังสืออนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร และแบบ กน.6.1 เป็นหนังสือ
อนุญาตให้ส่งน้ำตาลทรายออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น การที่บริษัทฯ ส่งมอบแบบ กน.51 และแบบ
กน.6.1 ให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบสำหรับกรณีที่บริษัทฯ ส่งออกน้ำตาลทรายโดยทาง
รถยนต์บรรทุก จึงถือได้ว่า บริษัทฯ ได้ส่งมอบหลักฐานตามข้อ 2 (3) และ (4) ของคำสั่งฯ ให้
เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบแล้ว
(2) กรณีการส่งออกบางรายการ บริษัทฯ ไม่ได้จัดทำหลักฐานการรับมอบน้ำตาลทราย
ลงเรือหรือบรรทุกรถยนต์ ซึ่งเป็นหลักฐานตามข้อ 2 (6) ของคำสั่งฯ แต่บริษัทฯ ได้ส่งมอบหลักฐาน
หนังสือกำกับการขนย้ายซึ่งแสดงถึงประเภท ชนิด และปริมาณของน้ำตาลทรายที่ส่งออกให้เจ้าพนักงานฯ
เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการตรวจสอบนั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดของหนังสือกำกับขนย้ายแล้ว
เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ กอน. ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการเป็นผู้ออกให้
ผู้ประกอบการโดยแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับประเภท ชนิด และปริมาณของน้ำตาลทรายที่ขนย้ายจาก
โรงงานน้ำตาลไปยังด่านศุลกากรเพื่อส่งออกจึงเป็นหลักฐานที่สนับสนุนให้เชื่อถือได้ว่า บริษัทฯ มีการ
ส่งออกน้ำตาลทรายตามประเภท ชนิดและปริมาณที่ได้แจ้งไว้กับ กอน. จริง
(3) กรณีการส่งออกบางรายการ บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
เกี่ยวกับชนิดของสินค้าที่ตัวแทนได้รับมอบจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นหลักฐานตามข้อ 2 (7) ของคำสั่งฯ ให้
เจ้าพนักงานตรวจสอบนั้น เนื่องจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามข้อกำหนดของคำสั่งฯ เป็นหลักฐานของ
ทางฝ่ายตัวแทนที่ต้องเป็นผู้จัดทำ ดังนั้น หากในการตรวจสอบปรากฏหลักฐานอื่นที่สนับสนุนให้เชื่อถือได้ว่า
บริษัทฯ มีการส่งมอบสินค้าตามประเภท ชนิดและปริมาณที่แจ้งไว้กับ กอน. ให้ตัวแทนเพื่อการส่งออก
เช่น รายงานสินค้าและวัตถุดิบของบริษัทฯ กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่า บริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกซึ่งได้รับสิทธิ
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แล้ว
เลขตู้: 62/28059

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020