เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.08334
วันที่: 16 สิงหาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการรับจ้างว่าความ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ฌ)
ข้อหารือ: บริษัท A ประกอบกิจการรับจ้างว่าความให้แก่ธนาคาร B จำกัด (มหาชน) บริษัท C
จำกัด บริษัท D จำกัด (มหาชน) และบริษัท E จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร B
จำกัด (มหาชน) โดยมีขั้นตอนตั้งแต่ติดตาม ทวงถาม เร่งรัดหนี้ ฟ้องคดี และบังคับคดี โดยบริษัทฯ จะ
เรียกเก็บค่าว่าความเมื่อมีการฟ้องคดีแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2539
บริษัทฯ มีความเห็นว่า ตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้การ
ประกอบกิจการให้บริการว่าความ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และตามมาตรา 77/1 (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ผู้ประกอบการ" ว่าหมายความว่า "บุคคลซึ่ง
ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ" และมาตรา 77/1 (1) บัญญัติว่า "บุคคล"
หมายความว่า "บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคล" ดังนั้น ย่อมหมายความว่านิติบุคคล
สามารถประกอบกิจการให้บริการว่าความได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนการที่มาตรา 81(1)
(ฌ) กำหนดให้การประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ชัดเจน ก็
เพราะมีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพไว้แล้ว ส่วนวิชาชีพอื่นที่อธิบดีกำหนดจะต้องเป็นวิชาชีพอิสระที่
มีกฎหมายควบคุมไว้ การที่จะนำพระราชบัญญัติทนายความมาประกอบการตีความว่าทนายความต้องเป็น
บุคคลธรรมดาเท่านั้น จึงเป็นการตีความที่เกินขอบเขตของกฎหมาย อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ก็ยอมรับให้มี
การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ให้บริการว่าความได้ดังนั้น เงินค่าจ้างว่าความที่บริษัทฯ ได้รับ
จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด จึงขอทราบว่าความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้อง
หรือไม่ และรายได้ค่าว่าความในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ นั้น
แนววินิจฉัย: เฉพาะรายได้จากการว่าความ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฌ)
แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/28168

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020