เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/09038
วันที่: 31 สิงหาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 80/1(4)
ข้อหารือ: หารือเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษี
มูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ
10.0 เป็นอัตราร้อยละ 7.0 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544 และจัดเก็บใน
อัตราร้อยละ 10.0 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไป โดยแจ้งว่า กรมการปกครองได้รับ
งบประมาณโครงการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้มาจากเงินกู้ธนาคารโลก 90%
และเงินงบประมาณ 10% สำหรับโครงการเงินกู้ได้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และส่วนที่ใช้
เงินงบประมาณ ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ทำสัญญากับผู้รับจ้างก่อนวันที่ 1 เมษายน 2542 และจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างหลังวันที่ 1
เมษายน 2542
2. ประกาศสอบราคาก่อนวันที่ 1 เมษายน 2542 และทำสัญญาจ้างหลังวันที่ 1 เมษายน
2542
3. ประกาศสอบราคาและทำสัญญาหลังวันที่ 1 เมษายน 2542
จึงหารือว่า ส่วนราชการที่จ่ายเงินจะต้องคำนวณอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ
ที่จ่าย ให้กับผู้รับจ้างอย่างไร พร้อมทั้งได้แนบตัวอย่างการคำนวณภาษีไปประกอบการพิจารณา
แนววินิจฉัย: การชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยเงินกู้ธนาคารโลก ตาม
มาตรการโครงการลงทุนเพื่อสังคม เข้าลักษณะเป็นการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการกับกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ
ตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535 หากกรมการปกครองซึ่งเป็นส่วนราชการได้ออกหนังสือรับรองที่มี
รายการครบถ้วนตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะ
ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับ
การชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยเงินงบประมาณนั้น เนื่องจาก
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353)
พ.ศ. 2542 ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิม ซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10.0 เป็นอัตราร้อยละ
7.0 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544 และจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10.0 ตั้งแต่
วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไป จึงเป็นผลให้การขายสินค้า การให้บริการหรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่ง
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0
สัญญาให้บริการกับกรมการปกครองตามข้อเท็จจริงที่ได้สอบราคา หรือทำสัญญาก่อนวันที่ 1
เมษายน 2542 โดยได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ไว้ในราคาค่าบริการ และเป็นกรณีที่
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544
กรมการปกครองต้องจ่ายค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 7.0 โดยคำนวณมูลค่างาน
และภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากราคาค่าบริการที่สอบราคาหรือทำสัญญาก่อนวันที่ 1 เมษายน 2542
เป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วเท่ากับสิบส่วนในหนึ่งร้อยสิบส่วน สำหรับกรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ให้ส่วนราชการผู้จ่ายค่าบริการให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มี
หน้าที่คำนวณหักภาษีณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาค่าบริการโดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีที่ได้สอบราคาและทำสัญญาให้บริการกับกรมการปกครอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542
โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ไว้ในราคาค่าบริการ ราคาค่าบริการตามสัญญาจึงเป็นราคา
รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วเท่ากับเจ็ดส่วนในหนึ่งร้อยเจ็ดส่วน ตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่แล้ว สำหรับ
กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้ส่วนราชการผู้จ่ายค่าบริการให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่ง
จดทะเบียนตามกฎหมายไทย คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของราคาค่าบริการโดยไม่รวม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/28258

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020