เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.09142
วันที่: 2 กันยายน 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และการคืนภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/9, มาตรา 86/10, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.80/2542 ฯ
ข้อหารือ: สรรพากรจังหวัด แจ้งว่า ได้ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มกรณี ขอคืนภาษี รายบริษัท ก
จำกัด สำหรับเดือนภาษี กุมภาพันธ์ 2539 ถึง ตุลาคม 2539 และ ธันวาคม 2539 ถึงมกราคม 2540
บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 ประกอบกิจการผลิต ส่งออก ขายส่ง
ขายปลีก ประตูโลหะและอโลหะ และให้บริการติดตั้งประตู วงกบ โลหะและอโลหะ เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ
จากการตรวจสอบพบประเด็นความผิดต้องประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่บริษัทฯ มีความเห็น
แตกต่างจากเจ้าพนักงาน ดังนั้น สรรพากรจังหวัดจึงหารือดังนี้
1. บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษี ใบลดหนี้ ใบเพิ่มหนี้ และนำไปบันทึกในรายงานฯ พร้อมทั้ง
นำไปยื่นแบบแสดงรายการดังนี้ 1.1 บริษัท ฯ ออกใบกำกับภาษี ลงวันที่ 23 เมษายน 2539 ยอดขาย
535,080 บาท ภาษีขาย 37,455.60 บาท บันทึกในรายงานภาษีขายและรายงานสินค้าฯ ในวันที่ 23
เมษายน 2539 1.2 ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2539 บริษัทฯ ได้ออกใบลดหนี้โดยอ้างถึงใบกำกับภาษี
ฉบับเดิม ลงวันที่ 23 เมษายน 2539 โดยระบุสาเหตุที่ออกว่า ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจาก
สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ตรงตามคำพรรณนา แต่ไม่ได้บันทึกในบัญชีคุมสินค้าฯ สำหรับเดือนภาษีเมษายน
2539 บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 วันที่ 15 พฤษภาคม 2539 1.3 วันที่ 7 มิถุนายน 2539
บริษัท ฯ ได้ออกใบลดหนี้อีกครั้ง อ้างถึงใบกำกับภาษีฉบับเดิม ลงวันที่ 23 เมษายน 2539 โดยระบุ
สาเหตุที่ออกว่า ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ตรงตามคำพรรณนา ได้
บันทึกในบัญชีคุมสินค้าฯ โดยลงรายการตามใบรับคืน 1.4 วันที่ 30 มิถุนายน 2539 บริษัทฯ ออก
ใบเพิ่มหนี้ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีฉบับเดิม ลงวันที่ 23 เมษายน 2539 โดยระบุสาเหตุที่ออกว่า
ยกเลิกใบลดหนี้ เนื่องจากออกเอกสารซ้ำ สำหรับเดือนภาษีมิถุนายน 2539 บริษัทฯ ได้ยื่น
แบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 1.5 วันที่ 24 สิงหาคม 2539 บริษัทฯ ได้
ออกใบเพิ่มหนี้ โดยอ้างถึงใบลดหนี้ 30 เมษายน 2539 โดยระบุสาเหตุที่ออกว่า เนื่องจากออกใบลดหนี้
ซ้ำ สำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2539 บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เมื่อวันที่ 13 กันยายน
2539
สรรพากรจังหวัดฯ จึงหารือว่า การออกใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ตามกรณีดังกล่าว บริษัทฯ
มีสิทธิกระทำได้หรือไม่
2. บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีและใบเพิ่มหนี้ ดังนี้ 2.1 บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีจำนวน 4
ฉบับลงวันที่ 10, 26, 27 และ 31 กรกฎาคม 2539 ตามลำดับ โดยบันทึกในรายงานภาษีขายตามวันที่
ที่ออกใบกำกับภาษี และนำไปรวมยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539
2.2 บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีจำนวน 9 ฉบับ ลงวันที่ 1, 7, 10, 14, 17, 21
และ 24 สิงหาคม 2539 ตามลำดับ โดยบันทึกในรายงานภาษีขายตามวันที่ที่ออกใบกำกับภาษีและนำไป
รวมยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539
2.3 ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2539 บริษัทฯ ได้ออกใบเพิ่มหนี้ โดยอ้างถึง
ใบกำกับภาษีรวม 11 ฉบับตามข้อ 2.1 และ 2.2 โดยระบุสาเหตุที่ออกว่า เนื่องจากราคาสินค้าไม่ตรง
ตามความเป็นจริง
สรรพากรจังหวัดฯ หารือว่า การออกใบเพิ่มหนี้ ตาม 2.3 ของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
3. บริษัทฯ ออกใบลดหนี้ในวันเดียวกันกับวันที่ออกใบกำกับภาษี และออกใบลดหนี้ในเดือน
เดียวกันกับเดือนที่ออกใบกำกับภาษี แต่ออกหลังจากวันที่ออกใบกำกับภาษี ระบุสาเหตุที่ออกว่า เนื่องจาก
สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ตรงตามคำพรรณนา ส่วนการบันทึกในรายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าฯ จะ
บันทึกตามวันที่ที่ออกเอกสาร
สรรพากรจังหวัดฯ หารือว่า กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ออกใบลดหนี้ถูกต้องหรือไม่
4. กรณีบริษัทฯ ออกใบลดหนี้ในเดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี แต่ก่อนวันยื่นแบบ
ภ.พ.30 บริษัทฯ สามารถกระทำได้หรือไม่
5. บริษัท ก จำกัด ต้องการใช้เหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศสำหรับผลิตสินค้า จึงติดต่อ
กับบริษัท ข ซึ่งเป็นตัวแทนจากต่างประเทศสั่งซื้อให้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
5.1 เมื่อสินค้าที่สั่งซื้อเข้ามาที่ท่าเรือ บริษัท ข จะเป็นผู้ดำเนินการออกสินค้าจาก
ท่าเรือ และนำมาเก็บไว้ที่บริษัท ข ค่าอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท ก จะเป็นผู้จ่าย จึงได้นำ
มาบันทึกในรายงานภาษีซื้อและนำไปยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
ใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ แต่ไม่ได้นำไปลงรายงานสินค้าและวัตถุดิบและบัญชีซื้อวัตถุดิบแต่
อย่างใดส่วนค่าสินค้าที่เป็นเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ บริษัทข จะเป็นผู้จ่ายเอง
5.2 เมื่อบริษัท ก ต้องการใช้เหล็กที่นำเข้า ก็จะสั่งให้บริษัท ข เป็นผู้ตัดให้ตาม
ขนาดที่ต้องการและส่งมาให้บริษัท ก พร้อมกับออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บค่าสินค้าและค่าจ้างตัดเหล็ก
บริษัท ก จะนำใบกำกับภาษีที่ได้รับมาเป็นหลักฐานในการลงรายงานภาษีซื้อและรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
พร้อมทั้งนำไปยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
สรรพากรจังหวัดฯ จึงหารือว่าการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท ก ตาม 5.1 และ 5.2
และการบันทึกในรายงานดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษี ลงวันที่ 23 เมษายน 2539 และได้ออกใบลดหนี้ เมื่อ
วันที่ 30 เมษายน 2539 โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีฉบับเดิม และระบุสาเหตุที่ออกว่า ได้รับสินค้าที่ขาย
กลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามคำพรรณา นั้น บริษัทฯ สามารถกระทำได้ ตาม
มาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร และ ตามข้อ 2(3) และข้อ 3 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
80/2542 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา
86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542
สำหรับการที่บริษัท ฯ ออกใบลดหนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีฉบับเดิมนั้น
บริษัทฯ ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นการออกใบลดหนี้ซ้ำกันกับใบลดหนี้ที่ได้ออกไปแล้ว และมิได้มี
เหตุการณ์ที่กฎหมายกำหนดให้ออกใบลดหนี้ได้เกิดขึ้นอีกแต่อย่างใด
และการที่บริษัทฯ ออกใบเพิ่มหนี้เพื่อยกเลิกใบลดหนี้ที่ออกผิดพลาด บริษัทฯ ก็ไม่สามารถ
กระทำได้เช่นกัน เนื่องจากมิได้มีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดให้ออกใบเพิ่มหนี้ได้
ตามมาตรา 82/9 แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 1(3) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.80/2542 ฯ
ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542
2. กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษี 4 ฉบับ ในเดือนกรกฎาคม 2539 และออกใบกำกับภาษี
อีก 7 ฉบับในเดือนสิงหาคม 2539 ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2539 บริษัทฯ ได้ออกใบเพิ่มหนี้ 1 ฉบับ
อ้างถึงใบกำกับภาษีทั้ง 11 ฉบับ ดังกล่าว โดยระบุสาเหตุที่ออกว่า เนื่องจากราคาสินค้าไม่ตรงตาม
ความเป็นจริง หรือคำนวณราคาสินค้าผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง นั้น ถ้าเหตุการณ์ที่กฎหมายกำหนดให้ออก
ใบเพิ่มหนี้ได้ เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2539 บริษัทฯ ย่อมสามารถออกใบเพิ่มหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับ
บริการในเดือนดังกล่าวได้ โดยบริษัทฯสามารถออกใบเพิ่มหนี้ 1 ฉบับ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีเดิม
มากกว่า 1 ฉบับ ก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 3 และ ข้อ 4 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.80/2542 ฯ ลงวันที่
21 มกราคม พ.ศ. 2542
3. กรณีบริษัทฯ ออกใบลดหนี้ในวันเดียวกันกับวันที่ออกใบกำกับภาษี หรือออกใบลดหนี้ใน
เดือนเดียวกันกับเดือนที่ออกใบกำกับภาษี หรือออกใบลดหนี้ในเดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี
แต่ก่อนวันที่ยื่นแบบ ภ.พ.30 นั้น บริษัทฯ สามารถกระทำได้ทั้งสิ้น ถ้าเหตุการณ์ที่กฎหมายกำหนดให้ออก
ใบลดหนี้ได้ เกิดขึ้นในเดือนภาษีนั้นๆ ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 3
แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.80/2542 ฯ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542
4. กรณีบริษัทฯ ต้องการใช้เหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศจึงติดต่อบริษัท ข ซึ่งเป็นตัวแทน
จากต่างประเทศสั่งซื้อให้ แต่การนำเข้ากระทำในนามของบริษัทฯ บริษัทฯ เป็นผู้กระทำพิธีการนำเข้า
สินค้า ชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะ
ผู้นำเข้าตามมาตรา 82(2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ได้รับใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากร
จึงต้องนำมาเป็นหลักฐานในการลงรายงานภาษีซื้อ โดยลงรายการตามมูลค่าสินค้าและจำนวน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร แต่ไม่ต้องลงรายการใน
รายงานสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากยังไม่ได้รับสินค้ามาแต่อย่างใด
สำหรับการที่ต่อมาเมื่อบริษัทฯ ต้องการใช้เหล็กขนาดต่าง ๆ ก็จะสั่งให้บริษัท ข ตัดเหล็ก
ให้ตามขนาดที่ต้องการ และส่งให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะชำระเงินค่าเหล็กให้แก่ บริษัท ข ซึ่งเป็น
ผู้ขายในประเทศไทย นั้นเนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ซึ่งมีการใช้บังคับของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข
ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร
ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ดังนั้น การที่บริษัท ข ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ในฐานะผู้ซื้อสินค้าอีกครั้งหนึ่ง และบริษัทฯ นำ
ใบกำกับภาษีที่ได้รับ มาเป็นหลักฐานในการลงรายงานภาษีซื้อ พร้อมทั้งลงรายการใน
รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามปริมาณสินค้าที่ได้รับมาจริง จึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว
บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บทั้งสองครั้งดังกล่าว มาถือเป็นภาษีซื้อของ
บริษัทฯ ได้ ซึ่งในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ให้เป็นเครดิตภาษี
และบริษัทฯ มีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและการลง
รายการในรายงานของบริษัทฯจึงถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 62/28277

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020