เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10677
วันที่: 15 ตุลาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสุราที่คงเหลืออยู่เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา28(1)(2), พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)ฯ, มาตรา 6 พระราชบัญญัติสุราฯ (ฉบับที่ 6)ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ หารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสุราที่คงเหลืออยู่เมื่อสิ้นสุด
สัญญาสัมปทาน ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการซึ่งได้รับใบอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพันกับ
กรมสรรพสามิตอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้บริษัทฯ ต้องชำระเงิน
ให้แก่รัฐบาลเป็นการเหมาจ่ายซึ่งเป็นเงินที่รวมค่าภาษีสุราและค่าผลประโยชน์ด้วย เมื่อบริษัทฯ ขายสุรา
ตามสัญญาผูกพันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญา
บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 28(1) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534
2. เนื่องจากปรากฏว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีสุราซึ่งได้เสียภาษีเป็นการเหมาจ่ายไว้แล้ว
คงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาดังกล่าวก็จะไม่สามารถขายได้หมด
จึงหารือว่า
(1) หากบริษัทฯ ขายสุราที่คงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นสุราที่ได้เสียภาษีไว้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม 2543 เป็นต้นไป บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
(2) หากบริษัทฯ ขายสุราที่เสียภาษีไว้แล้ว ตั้งแต่ก่อนหรือในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม
2542 แต่ลูกค้าดังกล่าวยังไม่สามารถขายได้หมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ลูกค้าต้องขาย
สุราที่ซื้อสุราที่คงเหลืออยู่ในวันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป ลูกค้าของบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการซึ่งได้รับใบอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพัน
กับกรมสรรพสามิต หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2536 และในสัญญาดังกล่าว
บริษัทฯ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราต้องชำระเงินให้แก่รัฐบาลเป็นการเหมาจ่ายโดยรวมค่าภาษีสุราและค่า
ผลประโยชน์ด้วย ดังนั้น การผลิตสุราในปี 2542 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน บริษัทฯ ผู้ได้รับ
ใบอนุญาตจึงมีสิทธิเสียภาษีสุราตามอัตราเดิมตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ทั้งนี้
ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2534 ต่อมา หากบริษัทฯ ผู้ได้รับใบอนุญาตได้
ขายสุราที่ทำตามสัญญาผูกพันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป จะมีภาระ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
(1) กรณีบริษัทฯ ผลิตสุรา และได้เสียภาษีสุราครบถ้วนแล้วตามสัญญาตามหลักเกณฑ์ใน
มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2534 เมื่อขายสุราดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2543 เป็นต้นไปบริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 28(1) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534
(2) กรณีผู้ประกอบการอื่น ๆ ซื้อสุราที่ได้เสียภาษีสุราแล้วตาม (1) ไปเพื่อขายปลีก
หรือขายส่งทุกทอด โดยอาจซื้อก่อนหรือในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 และไม่สามารถขาย
ได้หมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ผู้ประกอบการจะต้องขายสุราที่คงเหลืออยู่นั้นในวันที่ 1
มกราคม 2543 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 28(2)
แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534
(3) กรณีผู้ประกอบการอื่น ๆ ตาม (2) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่
ประกอบกิจการภัตตาคาร และขายสุราที่ได้เสียภาษีสุราแล้วตาม (1) ในภัตตาคาร ผู้ประกอบการมี
หน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 28(2) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับ
ที่ 30) พ.ศ. 2534
กิจการภัตตาคาร ได้แก่ กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้ง
กิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภค
ได้
(4) กรณีบริษัทฯ มีสุราคงเหลืออยู่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 และยังไม่ได้ปิดแสตมป์
สุราหรือปิดแสตมป์สุราไม่ครบถ้วนตามอัตราภาษีสุรา บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำสุราออกจากโรงงาน ซึ่งถือว่า
สุรานั้นยังไม่ได้เสียภาษีสุราตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2534
ดังนั้น หากสัญญากำหนดว่าสุราต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้ประโยชน์โดยไม่คิดมูลค่า หรือบริษัทฯ ขาย
สุรานั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากสุราดังกล่าว
(5) กรณีสัญญากำหนดว่า บริษัทฯ จะต้องมีสุราขาวที่ยังไม่ได้เสียภาษีคงเหลืออยู่ใน
โรงงานในวันสิ้นอายุสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และไม่เกินร้อยละ 50 ของประมาณสุราที่กำหนดให้ทำ
ออกขายในเขตการขายสุราในเดือนสุดท้ายของสัญญาเพื่อขายให้แก่ผู้รับประโยชน์คนใหม่ ดังนั้น เมื่อขาย
สุราขาวที่ยังไม่ได้เสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป บริษัทฯ ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากสุราดังกล่าว
2. อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบว่า บริษัทฯ ได้ผลิตสุราและเสียภาษีสุรา
ครบถ้วนตามสัญญาผูกพันแล้ว อาศัยอำนาจตามมาตรา 81/2 แห่งประมวลรัษฎากร
(1) ให้บริษัทฯ จัดทำรายงานแสดงรายการ ประเภท ชนิด และปริมาณสุราที่คงเหลือ
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 ยื่นต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร ณ ท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
ตั้งอยู่ ภายในวันที่ 20 มกราคม 2543
(2) ให้ผู้ประกอบการที่ซื้อสุราดังกล่าวจากบริษัทฯ ไปเพื่อขายปลีกหรือขายส่งทุกทอด
จัดทำรายงานแสดงรายการ ประเภท ชนิด และปริมาณสุราที่คงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 ยื่น
ต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร ณ ท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ภายในวันที่ 20 มกราคม
2543
เลขตู้: 62/28413

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020