เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10789
วันที่: 19 ตุลาคม 2542
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา91/2(6), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สำนักงานของบริษัทฯ ตั้งอยู่
ในเขตพระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดเขตพื้นที่ในบริเวณที่ที่เวนคืนเพื่อก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 37 สาย
วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เนื่องจากอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดของบริษัทฯ ถูกแนวทางหลวงและ
ได้รับเงินชดเชยจากกรมทางหลวงในปี 2539 และปี 2540 และบริษัทฯ ได้นำเงินชดเชยจากการ
เวนคืนดังกล่าวไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินไว้
แล้ว แต่มิได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
สรรพากรพื้นที่ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2542 แจ้งให้ทราบว่า กรณีบริษัทฯ ได้รับ
เงินชดเชยจากการถูกเวนคืนที่ดินดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากเข้า
ลักษณะเป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534
บริษัทฯ มีความเห็นว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ เกิดจากการเวนคืนตาม
กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการบังคับขาย บริษัทฯ จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน พ.ศ.2536 จึงไม่น่าที่จะตีความเป็นการขายตามปกติวิสัยการค้า ดังนั้น
การขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
244) พ.ศ. 2534 แต่เข้าลักษณะเป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครองเกิน 5 ปี และเกิดจากการ
เวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 3(6)(ก) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
ฉบับดังกล่าว นอกจากนี้แล้วการที่บริษัทฯ ถูกเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทำให้ต้อง
ดำเนินการสร้างโรงงานใหม่ และหมดโอกาสในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในระหว่างปี 2538 - 2540
เมื่อบริษัทฯ ได้เริ่มต้นผลิตสินค้าในปี 2541 บริษัทฯ ต้องประสบกับสภาพธุรกิจตกต่ำมาโดยตลอด จึงขอ
ให้กรมสรรพากรตีความตามกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรม
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้รับค่าเวนคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากกรมทางหลวงตามข้อเท็จจริง
ข้างต้นเข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทฯ ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 3(5) แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น
ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา
91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร จากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 91/5(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. แห่ง
บัญชีอัตราอากรแสตมป์
2. เนื่องจากบริษัทฯ มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลาจึงต้อง
รับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ตามมาตรา 91/21(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่อาจขอลดเบี้ยปรับต่อเจ้าพนักงานประเมินได้หากเจ้าพนักงานประเมินยังมิได้
ดำเนินการประเมินภาษีให้เสร็จสิ้น ทั้งนี้ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์
การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22
มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9
กรกฎาคม พ.ศ. 2542 และบริษัทฯ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของ
เงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
3. เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว บริษัทฯ มีสิทธิยื่น
คำร้องขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้ชำระต่อเจ้าพนักงานที่ดินภายในกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ได้เสีย
ค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เลขตู้: 62/28424

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020