เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11190
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล การคำนวณรายได้ดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินหกเดือน
ข้อกฎหมาย: มาตรา65 วรรคสอง, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ก จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจทำการถลุงแร่ดีบุก และจำหน่ายโลหะดีบุก
ทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ
การเงิน เว้นแต่การให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเกี่ยวเนื่องกับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ตามวัตถุประสงค์
ดังกล่าว
ในปี 2536 บริษัทฯ ได้ให้บริษัท ร จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน
38,000,000 บาท ปรากฏตามสัญญากู้ยืมเงินและค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2536, 20
มิถุนายน 2536 และ 1 กรกฎาคม 2536 เป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท, 3,000,000 บาท และ
30,000,000 บาท ตามลำดับ การที่บริษัทฯ ได้ให้บริษัท ร จำกัด กู้ยืมเงินดังกล่าวก็เพื่อให้เป็นเงินทุน
หมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และ/หรือจัดหาแร่ดีบุกมาจำหน่ายให้แก่บริษัทฯ อันเป็นเรื่องที่
เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา จนถึงบัดนี้บริษัทฯ ได้คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้
ตามสัญญาดังกล่าวและบันทึกบัญชีตามเกณฑ์ค้างรับ โดยบริษัทฯ ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นประจำ
ทุกเดือนและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ทั้งที่บริษัทฯ ไม่ได้รับชำระหนี้เลย และเมื่อคำนวณยอดหนี้
ค้างชำระ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2542 มียอดค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น
61,296,014.82 บาท
นอกจากนี้แล้ว บริษัทฯ ยังได้ให้บริษัท ร จำกัด เบิกเงินล่วงหน้าพิเศษค่าแร่อีกในช่วง
ระหว่างปี 2535 - 2537 ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 บริษัท ร จำกัด มียอดค้างชำระเงินล่วงหน้า
พิเศษพร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 14,106,179.07 บาท ปรากฏตามสำเนาสัญญารับรองหนี้ ลงวันที่ 2
ธันวาคม 2537 บริษัทฯ ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ดอกเบี้ย
เช่นเดียวกับเงินกู้ยืมดังกล่าวข้างต้น ทั้งที่บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้น้อยมากและเมื่อคิดคำนวณยอดหนี้
ค้างชำระ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2542 มียอดค้างชำระเงินต้น และดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น
12,355,252.69 บาท
ยอดเงินค้างชำระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,651,267.51 บาท ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว
บริษัทฯ ไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้จากบริษัท ร จำกัด ผู้กู้ต่อไป บริษัทฯ จึงได้สำรองหนี้สูญตามจำนวนหนี้
โดยไม่ได้ถือว่ารายการหนี้สูญดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิปลายปี บริษัทฯ จึงได้นำยอด
จำนวนหนี้บวกกลับเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตลอดมา ทั้งที่บริษัทฯ ไม่ได้รับเงินดอกเบี้ยดังกล่าวเป็น
รายได้ของบริษัทฯ ตามความเป็นจริง ทำให้บริษัทฯ มีภาระในการที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ
1,700,000 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่บริษัทฯ และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 บริษัท ร จำกัด ขาดการ
ติดต่อและไม่ได้เป็นผู้ค้าขายกับบริษัทฯ ต่อไป
เนื่องจากบริษัทฯ ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับตลอดมาเช่นเดียวกับดอกเบี้ยรับ
สำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมกับบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ คาดหมายได้
แน่นอนว่าจะไม่สามารถได้รับชำระหนี้ และมูลค่าหนี้เกินทรัพย์สินที่ได้ประเมินไว้ จึงขอหารือว่า บริษัทฯ
จะไม่นำรายได้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินหก
เดือนแล้ว มาคำนวณเป็นรายได้ของบริษัทฯ ตามข้อ 4.1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ
ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทฯ จะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ
ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 กรมสรรพากรไม่อาจอนุมัติให้บริษัทฯ นำรายได้ส่วนที่
เป็นดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินหกเดือนแล้ว มาคำนวณเป็น
รายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระได้ตามที่ร้องขอ
เลขตู้: 62/28489

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020