เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11339
วันที่: 3 พฤศจิกายน 2542
เรื่อง: ภาระภาษีของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา39, มาตรา70
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบริษัทจัดการของกองทุนรวม ก. และกองทุนรวม ข. ซึ่ง
ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการจัดตั้งและจัดการเมื่อวันที่ 18
พฤษภาคม 2542 และ 29 เมษายน 2542 ตามลำดับ โดยกองทุนรวมทั้งสองมีวัตถุประสงค์ในการลงทุน
ในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัทฯ จึงหารือเกี่ยวกับภาระภาษีของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
และผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีภูมิลำเนาใน
ต่างประเทศ
แนววินิจฉัย: 1. ภาระภาษีของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
1.1 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ.2535 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตาม
มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 การขายสินค้าและการให้บริการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3 (9) และมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239)
พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 336) พ.ศ.2541
1.3 การประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรของกองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3 (10) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240)
พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 337) พ.ศ.2541
1.4 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามมาตรา 6 (28) แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 338)
พ.ศ.2541
1.5 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นผู้รับโอน ให้เสียค่าธรรมเนียมการ
จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน
พ.ศ.2497
2. ภาระภาษีของผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้ง ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
2.1 เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
กรณีผู้รับเป็นบุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวม
คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (32) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ผู้จ่ายเงินได้
จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
กรณีผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้
ประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่ง เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตาม
มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 เงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
ในระหว่างอายุของกองทุนรวมและเมื่อเลิกกองทุนรวมถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น
กรณีผู้รับเป็นบุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษี ณ ที่จ่ายกรณีผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้
ประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่งเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตาม
มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/28504

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020