เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/12530
วันที่: 14 ธันวาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายบัตรโดยสารพร้อมบัตรที่ระลึก
ข้อกฎหมาย: มาตรา77/1(8)(9), มาตรา77/2, มาตรา81(1)(ณ), มาตรา86/6, มาตรา65 ตรี(3)
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ได้รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการประกอบกิจการโครงการ
ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง กำหนดระยะเวลา 30 ปี นับแต่วันแรกที่ระบบเริ่ม
เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
ประเภท 6.27 โดยได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จาก
การประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีกำหนดเวลาแปดปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการ
ประกอบกิจการนั้น ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
2. บริษัทฯ ได้จัดทำบัตรโดยสารรถไฟฟ้าเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในโอกาสเปิดให้บริการ
รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย โดยจัดทำบัตรโดยสารรถไฟฟ้าพร้อมกับบัตรที่ระลึก ซึ่งบัตรที่ระลึกจะ
แสดงถึงภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยตราสัญลักษณ์งาน
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยบริษัทฯจะนำรายได้สุทธิจากการจำหน่ายบัตรโดยสารและบัตรที่
ระลึกดังกล่าวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราช
อัธยาศัย
3. บัตรโดยสารรถไฟฟ้ากรณีพิเศษ 1 ชุด มูลค่า 999 บาท ประกอบด้วย บัตรโดยสาร
รถไฟฟ้าพิเศษ 1 ใบ ที่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้า มูลค่า 500 บาท และบัตรที่ระลึก 4 ใบ มูลค่า 499
บาท บริษัทฯจำหน่ายบัตรโดยสารดังกล่าวรวมเป็นชุดโดยไม่แยกขาย และจะนำไปแจกให้แก่ผู้มาร่วมใน
งานพิธีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าด้วย
4. บริษัทฯ หารือว่า
(1) บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสาร
รถไฟฟ้า กรณีพิเศษ มูลค่าชุดละ 999 บาท ซึ่งประกอบด้วยบัตรโดยสารรถไฟฟ้ามูลค่า 500 บาท และ
บัตรที่ระลึกมูลค่า 499 บาท ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
(2) หากบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
อย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่
(3) บริษัทฯ จะต้องนำรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้ากรณีพิเศษมารวม
คำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ ถ้าต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิ จะถือเป็นรายได้
ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่
(4) ต้นทุนที่เกิดจากการจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้ากรณีพิเศษและส่วนของรายได้
สุทธิที่นำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราช
อัธยาศัย ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ ได้รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการประกอบกิจการโครงการ
ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯจัดทำบัตรโดยสารรถไฟฟ้ากรณีพิเศษ มูลค่า
999 บาท ซึ่งประกอบด้วยบัตรโดยสารรถไฟฟ้ามูลค่า 500 บาท และบัตรที่ระลึกมูลค่า 499 บาท บริษัท
ฯจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับมูลค่าบัตรโดยสาร 500 บาท เนื่องจากเป็นการให้บริการขนส่งใน
ราชอาณาจักร สำหรับบัตรที่ระลึกซึ่งแสดงถึงภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วยตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหา
มงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เข้าลักษณะเป็นสินค้าที่บริษัทฯมีไว้เพื่อจำหน่าย ตามมาตรา
77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2
แห่งประมวลรัษฎากร
2. การจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้ากรณีพิเศษตาม 1. เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าใน
ลักษณะขายปลีกและการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก บริษัทฯจึงมีสิทธิ
ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
3. รายได้ในส่วนของบัตรโดยสารรถไฟฟ้า มูลค่า 500 บาท ถือเป็นรายได้ของกิจการที่
ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติ
ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และรายได้ในส่วนของบัตรที่ระลึกซึ่งแสดงถึงภาพพระราชกรณียกิจของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นรายได้ของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งบริษัทฯ
ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
4. บริษัทฯ สามารถนำต้นทุนที่เกิดจากการจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้ากรณีพิเศษไปถือ
เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ตรี แห่ง
ประมวลรัษฎากร และมีสิทธินำเงินที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ในส่วนที่ไม่เกิน
ร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากถือเป็นรายจ่ายเพื่อ
การกุศลสาธารณะ กรณีบริษัทฯไม่สามารถแยกรายจ่ายดังกล่าวได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นรายจ่ายของกิจการที่
ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หรือเป็นส่วนของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และไม่มีเกณฑ์อื่นที่
จะเฉลี่ยรายจ่ายนั้นได้เป็นการเหมาะสมแล้ว ก็ให้เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวออกตามส่วนของรายได้จาก
กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
เลขตู้: 62/28688

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020