เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/30025
วันที่: 5 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินมัดจำสัญญาเช่า
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ล. จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าอาคารกับ บริษัท ว. จำกัด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม
2542 บริษัทฯ ผู้เช่าได้จ่ายเงินมัดจำค่าเช่า 3 เดือน เป็นเงิน 745,800 บาท โดยมิได้หักภาษี ณ
ที่จ่าย จึงหารือว่า บริษัท ล. จำกัด ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จากเงินมัดจำ จำนวน 745,800 บาท
หรือไม่
แนววินิจฉัย: เงินมัดจำค่าเช่า ตามสัญญาเช่าที่เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินก้อน เพื่อ
ตอบแทนการให้เช่าทรัพย์สินทั้งจำนวนต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ใน
ข้อ 2 (1) (ก) และ 2 (2) (ก) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 เรื่อง การเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำหรือ
เงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541ฯ
ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 เว้นแต่เงินมัดจำค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามข้อ 3 (2) แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวต่อไปนี้ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ
(ก) โดยขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจได้มีการเรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำ
(ข) ต้องมีการคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำให้แก่ผู้เช่าทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเงื่อนไข
แต่กรณีเกิดความเสียหายผู้ให้เช่ามีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้
(ค) เงินประกัน หรือเงินมัดจำที่เรียกเก็บต้องไม่เกิน 3 - 6 เท่าของค่าเช่ารายเดือน
และ
(ง) สัญญาให้เช่าทรัพย์สินมีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี
สัญญาเช่าลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ข้างต้น เงินมัดจำตามสัญญาเช่าไม่ระบุการคืนเงิน
มัดจำให้แก่ผู้เช่าไม่เป็นไปตามข้อ 3 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว แต่ถือเป็นเงินก้อนตามข้อ 2
(1) (ก) การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จึงเป็นไปตามข้อ 2 (2) (ก) ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่
26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 63/28786

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020