เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.413
วันที่: 21 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้ส่วนลดค่าใช้บริการโทรศัพท์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5 (2), มาตรา 65 ตรี (13) (18)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ได้รับสัมปทานในลักษณะสัญญาร่วมการงานและร่วม
ลงทุนกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ในการให้บริการโทรศัพท์ขั้นพื้นฐาน จำนวน 2.6
ล้านเลขหมาย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล บริษัทฯ ขอหารือ ดังนี้
1. บริษัทฯ ได้จัดทำรายการส่งเสริมการขายโดยให้ส่วนลดค่าใช้บริการรายเดือนจำนวน
2,000 บาทสำหรับลูกค้าที่ซื้อเลขหมายโทรศัพท์ในช่วงที่มีการส่งเสริมการขายนับจากวันที่ใช้บริการ
จนกว่าจะครบ 2,000 บาท ส่วนเกินลูกค้าต้องรับผิดชอบเอง โดยองค์การโทรศัพท์ฯ ออกบิลเรียกเก็บ
ค่าใช้โทรศัพท์จากลูกค้า และลูกค้าไม่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ในส่วนที่ได้รับโปรโมชั่น 2,000 บาท บริษัทฯ
ในฐานะผู้จัดโปรโมชั่นต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ในส่วน 2,000 บาทนี้ให้กับองค์การโทรศัพท์ฯ แทนลูกค้าซึ่ง
องค์การโทรศัพท์ฯ จะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีในนามของลูกค้า กรณีนี้ลูกค้าสามารถนำ
ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมาคำนวณเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่ เนื่องจากลูกค้าไม่ได้ชำระเงินหรือชำระ
บางส่วนแต่ใบกำกับภาษีเป็นชื่อของลูกค้า
2. บริษัทฯ ให้ส่วนลดค่าติดตั้งโทรศัพท์ 2,000 บาท สำหรับลูกค้าที่ขอติดตั้งโทรศัพท์ใหม่
ในช่วงที่มีการส่งเสริมการขายโดยบริษัทฯ จ่ายเงินแทนลูกค้า ลูกค้าจ่ายส่วนที่เหลือ 4,503 บาท โดยที่
องค์การโทรศัพท์ฯ ได้รับชำระค่าติดตั้งเต็มจำนวนคือ 6,503 บาท และองค์การโทรศัพท์ฯ ได้
ออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินตามชื่อลูกค้าที่ขอติดตั้งโทรศัพท์เต็มจำนวน ลูกค้าสามารถขอคืนภาษีซื้อ
ได้เต็มจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบกำกับภาษีหรือไม่
3. ในส่วนที่บริษัทฯ ได้ให้ส่วนลดค่าใช้บริการและค่าติดตั้งตาม 1. และ 2. บริษัทฯ
สามารถบันทึกเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. และ 2. การที่บริษัทฯ ให้ส่วนลดค่าใช้บริการ หรือส่วนลดค่าติดตั้ง
โทรศัพท์ดังกล่าวลูกค้าของบริษัทฯ ไม่มีสิทธิ์นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ได้รับในนามของลูกค้ามา
ถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าจำนวน
ภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วนจะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของลูกค้าของบริษัทฯ
ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากรก็ตามแต่จำนวนเงินที่จ่ายและจำนวน
ภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีดังกล่าวได้รวมเงินของบริษัทฯ ที่จ่ายไว้ด้วย จึงเป็นใบกำกับภาษีที่มี
รายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วน ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องห้าม
ตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตาม 3. บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์รายเดือนจำนวน 2,000 บาท และจ่ายค่า
ติดตั้งโทรศัพท์จำนวน 2,000 บาท แทนลูกค้าเนื่องจากการส่งเสริมการขายดังกล่าว หากมีหลักฐาน
พิสูจน์ได้ว่าบริษัทฯ ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปจริง บริษัทฯ มีสิทธิ์นำมาถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้าม
ตามมาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/28843

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020