เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1084
วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับดอกเบี้ยค้างรับ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ: ธนาคาร ก. จะซื้อสินทรัพย์ดีจากบริษัทเงินทุน ข. ตามราคาบัญชีสุทธิ และเนื่องจากราคา
ทรัพย์สินบางประเภท เช่น เงินกู้ยืม เงินลงทุนในตราสารหนี้ ที่ธนาคารฯ ซื้อมา เป็นราคาที่ได้รวม
มูลค่าดอกเบี้ยค้างรับไว้แล้วธนาคารฯ จึงหารือว่า
1. กรณีบริษัทเงินทุนฯ บันทึกดอกเบี้ยค้างรับของลูกหนี้แต่ละรายเป็นรายได้ไว้ครบถ้วนแล้ว
ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของ
บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 เมื่อธนาคารฯ รับโอนลูกหนี้รายนั้น
มา ธนาคารฯ ไม่ต้องรับรู้เป็นรายได้ของธนาคารฯ โดยตั้งเป็นดอกเบี้ยค้างรับอีก ธนาคารฯ เข้าใจ
ถูกต้องหรือไม่
2. หากบริษัทเงินทุนฯ บันทึกดอกเบี้ยค้างรับของลูกหนี้แต่ละรายเป็นรายได้ไม่ครบถ้วน
ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ เมื่อธนาคารฯ รับโอนลูกหนี้รายนั้นมา ธนาคารฯ ต้องรับรู้
เป็นรายได้ของธนาคารฯ โดยตั้งเป็นดอกเบี้ยค้างรับต่อจากบริษัทเงินทุนฯ จนกว่าจะครบ ตาม
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ ถูกต้องหรือไม่
3. บริษัทเงินทุนฯ โอนขายสินทรัพย์ประเภทที่รวมมูลค่าดอกเบี้ยค้างรับของสินทรัพย์แต่ละ
รายไว้ด้วย เนื่องจากบริษัทเงินทุนฯ ใช้เกณฑ์เงินสดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น เมื่อได้รับเงิน
จากธนาคารฯ จะถือว่าบริษัทเงินทุนฯ ได้รับชำระดอกเบี้ยค้างรับดังกล่าว ซึ่งบริษัทเงินทุนฯ ต้องนำไป
รวมคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือนภาษีที่ได้รับชำระราคามูลค่าสินทรัพย์ ถูกต้องหรือไม่
4. ธนาคารฯ ใช้เกณฑ์เงินสดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อธนาคารฯ รับโอนสินทรัพย์
ประเภทที่รวมมูลค่าดอกเบี้ยค้างรับของสินทรัพย์แต่ละรายไว้ด้วย โดยมิได้บันทึกดอกเบี้ยค้างรับเป็น
รายได้ตามข้อ 1. หากลูกหนี้นำเงินมาชำระเฉพาะค่าดอกเบี้ยค้างรับที่รับโอนมาจากบริษัทเงินทุนฯ
ธนาคารฯ ไม่ต้องนำมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีก เนื่องจากเป็นรายได้ของบริษัทเงินทุนฯ ซึ่งได้นำไปเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ถูกต้องหรือไม่
5. กรณีที่ธนาคารฯ รับโอนสินทรัพย์ประเภทที่รวมมูลค่าดอกเบี้ยค้างรับของสินทรัพย์แต่ละ
รายไว้ด้วยและได้บันทึกรับรู้เป็นรายได้ของธนาคารฯ โดยตั้งเป็นดอกเบี้ยค้างรับตามข้อ 2 หากลูกหนี้นำ
เงินมาชำระค่าดอกเบี้ยค้างรับดังกล่าว ธนาคารฯ จะนำเฉพาะดอกเบี้ยค้างรับที่ธนาคารฯ รับรู้เป็น
รายได้ของธนาคารฯ เท่านั้น มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือนภาษีที่ได้รับชำระ ถูกต้อง
หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
1.1 หากบริษัทเงินทุนฯ บันทึกดอกเบี้ยค้างรับของลูกหนี้ครบตามกำหนดแล้ว ต่อมา
ลูกหนี้นั้นได้โอนมาเป็นลูกหนี้ของธนาคารฯ ธนาคารฯ ยังคงต้องบันทึกดอกเบี้ยที่ธนาคารฯ จะได้รับจาก
ลูกหนี้เป็นรายได้จนกว่าลูกหนี้จะผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินสามเดือน ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.1/2528 ฯ
1.2 หากบริษัทเงินทุนฯ ยังบันทึกดอกเบี้ยค้างรับของลูกหนี้ไม่เกินสามเดือนและได้โอน
ลูกหนี้ดังกล่าวมาเป็นลูกหนี้ของธนาคารฯ ธนาคารฯ ยังคงต้องบันทึกดอกเบี้ยที่ธนาคารฯ จะได้รับจาก
ลูกหนี้เป็นรายได้จนกว่าลูกหนี้จะผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินสามเดือน ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.1/2528 ฯ
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
2.1 เนื่องจากบริษัทเงินทุนฯ ใช้เกณฑ์เงินสดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น เมื่อ
ธนาคารฯ จ่ายเงินให้แก่บริษัทเงินทุนฯ เมื่อบริษัทฯ โอนทรัพย์สินให้ธนาคารฯ และทรัพย์สินนั้นได้คิดรวม
มูลค่าดอกเบี้ยค้างรับไว้แล้ว บริษัทเงินทุนฯ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากจำนวนดอกเบี้ยที่ได้รับ
2.2 เมื่อธนาคารฯ รับโอนสินทรัพย์ประเภทที่รวมมูลค่าดอกเบี้ยค้างรับจากบริษัทฯ
แล้ว ดอกเบี้ยส่วนที่ถึงกำหนดชำระก่อนวันโอนสินทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนฯ ได้รับและนำไปเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะตามเกณฑ์เงินสดแล้วธนาคารฯ ไม่ต้องนำไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซ้ำอีก
เลขตู้: 63/28929

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020