เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2880
วันที่: 11 เมษายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขอยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากทุนอุดหนุนการวิจัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 46, มาตรา 56
ข้อหารือ: นาย ส. ปฏิบัติราชการอยู่ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ได้รับทุนอุดหนุน
การวิจัย เรื่อง “การศึกษาระดับแคดเมียมและโครเมียมในเลือดและในปัสสาวะของกลุ่มคนสุขภาพ
แข็งแรงที่ไม่ได้ทำงานสัมผัสกับโลหะหนัก และกลุ่มคนที่ทำงานสัมผัสกับแคดเมียมและโครเมียม” จาก
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยทำสัญญารับทุนศึกษาวิจัย เมื่อวันที่ 8
กันยายน 2542 มีกำหนดเวลา 12 เดือน จำนวนทุนวิจัยเหมาจ่ายเป็นเงิน 273,000 บาท แบ่งจ่าย
เงินเป็น 3 งวด ตามผลสำเร็จของงาน ดังนี้
งวดที่ 1 จำนวนเงิน 81,900 บาท
งวดที่ 2 จำนวนเงิน 136,500 บาท
งวดที่ 3 จำนวนเงิน 54,600 บาท
ในการศึกษาวิจัยดังกล่าว นาย ส. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย สำนักงานประกันสังคมได้
สั่งจ่ายเงินทุนวิจัยในนามของ นาย ส. โดยได้จ่ายเงินงวดที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542
โครงการวิจัยดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพื่อหามาตรการ
ป้องกันโรคจากการทำงานโดยเฉพาะ โดยกลุ่มผู้วิจัยมิได้รับเงินค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ส่วนตนใด ๆ
ทั้งสิ้น เงินวิจัยทั้งหมดที่ได้รับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องมือและการวิเคราะห์ต่าง ๆ และผลงาน
การวิจัยตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานประกันสังคม ดังนั้น เพื่อให้งานวิจัยดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย จึง
ขอให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่ได้รับจากเงินทุนวิจัยดังกล่าว
แนววินิจฉัย: 1. การที่สำนักงานประกันสังคมทำสัญญาให้ทุนศึกษาวิจัย ในลักษณะเหมาจ่ายเป็นเงิน
273,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด ตามผลสำเร็จของงานที่กำหนดในสัญญา และเงินทุนที่จ่ายถูก
นำไปใช้จ่ายสำหรับค่าเครื่องมือและการวิเคราะห์ต่าง ๆ โดยผลงานวิจัยตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงาน
ประกันสังคม เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร การ
จ่ายเงินดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะเป็นรางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้อง
นำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(11) แห่งประมวลรัษฎากร
2. เนื่องจากโครงการวิจัยดังกล่าว นาย ส. เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีบุคคลอื่นร่วม
ปฏิบัติงานวิจัยด้วยจึงถือว่าผู้ร่วมโครงการวิจัยเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ดังนั้น เงินทุนศึกษาวิจัยที่ได้
รับจึงต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ในนามของคณะบุคคล ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
โดยให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502
เลขตู้: 63/29149

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020