เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3075
วันที่: 20 เมษายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 63
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคหารือปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณดอกเบี้ยให้แก่
ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1. บริษัท ท. จำกัด ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับ
รอบระยะเวลาบัญชี 1 พฤษภาคม 2539 - 31 ธันวาคม 2539 และรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม
2540 - 31 ธันวาคม 2540 ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ วันที่ 28 พฤษภาคม 2540 และ
วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 ตามลำดับ
2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินโดยใช้แบบ ค.10 ลงวันที่ 27 เมษายน 2542 ขอคืน
ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 พฤษภาคม 2539 - 31 ธันวาคม 2539 และ
รอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2540 - 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 29,603,788.39 บาท และ
จำนวน 32,510,216.23 บาท ตามลำดับ และบริษัทฯให้ธนาคารออกหนังสือสัญญาค้ำประกันเพื่อรับเงิน
คืนก่อนผลการตรวจสอบภาษีฯ จะแล้วเสร็จ และสรรพากรพื้นที่ได้อนุมัติคืนเงินภาษีอากร ค.20
3. สำนักตรวจสอบภาษีแจ้งผลการตรวจสอบภาษีฯ ให้บริษัทฯ มีสิทธิ์ได้รับคืน
ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2539 และ 2540 ตามคำร้อง ค.10 และบริษัทฯ ไม่ได้
แสดงเจตนาสละสิทธิ์การขอรับดอกเบี้ย ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร
4. บริษัทฯ มีหนังสือลงวันที่ 20 มกราคม 2543 แสดงความประสงค์จะขอรับดอกเบี้ยที่
เกิดจากการขอคืนภาษีดังกล่าวด้วย โดยขอให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือน
นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการ ตามข้อ 1(1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.
2526)ฯ
5. สำนักงานสรรพากรพื้นที่เห็นว่า แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ไม่ถือว่าเป็นคำร้อง
ขอคืนเงินภาษีอากรหากบริษัทฯ มีความประสงค์จะขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องยื่นคำร้องขอคืนเงิน
ภาษีอากรโดยใช้แบบ ค.10 เพียงอย่างเดียว จะไม่มีการพิจารณาคืนเงินจากการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ที่
มีภาษีชำระเกิน ทั้งนี้ ตามข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526)ฯ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม
พ.ศ. 2526 และให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนับถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนจากการยื่นคำร้องขอคืนเงิน
(ค.10) ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วไม่มีดอกเบี้ยจะต้องคืนให้บริษัทฯ แต่อย่างใด
สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า กฎหมายที่ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร
มีบัญญัติอยู่ในประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ และกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526)ฯ ซึ่งใช้บังคับ
กับทุกประเภทภาษีอากร บัญญัติมีใจความสำคัญว่า “ดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ให้เริ่มคิด
ตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการหรือวันยื่น
คำร้องขอคืน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่ากฎหมายมีความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ต้องการบังคับให้
ทางราชการพิจารณาคืนเงินแก่ผู้มีสิทธิขอคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่
ผู้มีสิทธิขอคืนได้มีการยื่นแบบแสดงรายการ (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91, ภ.พ.30) หรือยื่นคำร้องขอคืน
(ค.10) ทั้งนี้ ต้องเป็นการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย
สำหรับกรณีรายนี้ข้อเท็จจริงมีว่า ผู้มีสิทธิขอคืน คือ บริษัทฯ จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอคืน
(ค.10) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชี 2539 และ 2540
จำนวนเงินทั้งสิ้น 62,114,004.62 บาท สำนักงานสรรพากรพื้นที่พิจารณาคืนให้ตามหนังสือแจ้งคืน
(ค.20) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2542 จะเห็นว่าการพิจารณาคืนได้กระทำให้เสร็จสิ้นภายใน
ระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น
ทางราชการจึงไม่มีเหตุผลต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่บริษัทฯ แต่อย่างใดเมื่อบริษัทฯ ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย
ของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาปัญหาว่าจะให้เริ่มคิดดอกเบี้ยแก่บริษัทฯ ตั้งแต่วันใด
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริง การพิจารณาคืนเงินภาษีให้บริษัทฯ เข้าหลักเกณฑ์การคืนเงินภาษีอากร
ให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย
ตามข้อ 1(1)(ก) และข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
และบริษัทฯ ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 และคำร้องขอคืน (แบบ ค.10) ภายในเวลาที่
กฎหมายกำหนดตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับกรณีที่ ข้อ 2 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดว่า “การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1
จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด”
นั้น เป็นการกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับความในข้อ 1(1)(ก), (ข), (2) และ (3) แล้วแต่กรณี มิได้
หมายความว่ากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง (ยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องแบบ ค.10 ภายในเวลาที่
กฎหมายกำหนด) แล้วจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย
ดังนั้น บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 พฤษภาคม 2539 -
31 ธันวาคม 2539 และรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2540 - 31 ธันวาคม 2540 และยื่นคำร้อง
ค.10 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย โดยให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวัน
ครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด
เลขตู้: 63/29172

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020