เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/4503
วันที่: 5 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการหักคืนเงินรับล่วงหน้า
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541
ข้อหารือ: บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้รับการว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างให้ก่อสร้างโดยมีเงื่อนไขการ
ชำระเงินค่าก่อสร้าง ดังนี้
1. ชำระเป็นเงินรับล่วงหน้า (Advance) ร้อยละ 10 ของมูลค่างานทั้งสัญญาเมื่อได้
ลงนามในสัญญา โดยในการรับชำระเงินรับล่วงหน้า บริษัทฯ ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง
และได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 นำส่งต่อกรมสรรพากรแล้ว
2. ชำระเงินค่างวดผลงานในแต่ละเดือน โดยหักคืนเงินรับล่วงหน้า (Advance) เป็น
จำนวนร้อยละ 10 ของงานที่ทำเสร็จในแต่ละงวดและบริษัทฯ ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจาก
ค่าผลงานสุทธิ หักเงินรับล่วงหน้าและสำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผู้ว่าจ้างก็คำนวณจากค่าผลงานสุทธิหักเงิน
รับล่วงหน้าแล้วเช่นกัน
ต่อมาเกิดเหตุการณ์ทำให้บริษัทฯ ต้องยุติการก่อสร้างโดยผลงานที่ทำเสร็จจริงไม่เต็ม
จำนวนตามสัญญาจ้าง บริษัทฯ ได้เรียกให้ชำระเงินค่าผลงานที่ทำเสร็จไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้ว่าจ้าง
ยังไม่ได้จ่ายชำระเงินให้บริษัทฯ และตกลงที่จะจ่ายเงินค่าผลงานให้โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ ต้อง
ชำระคืนเงินรับล่วงหน้าคงเหลือทั้งหมดที่ยังไม่ได้ถูกหักคืนจากการชำระเงินค่าผลงานงวดก่อน โดยบริษัทฯ
คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
มูลค่าผลงานส่วนที่ยังไม่ได้มีการชำระเงิน A
หัก เงินรับล่วงหน้าคงเหลือทั้งหมดที่ยังไม่ได้หักคืนให้ผู้ว่าจ้าง (B)
C
บวก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของ C D
หัก ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% ของ C (E)
สุทธิต้องจ่ายเงินให้บริษัทฯ F
บริษัทฯ จึงหารือว่า วิธีการปฏิบัติในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของ
บริษัทฯ ข้างต้นปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพียงใด นั้น
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการหักคืนเงินรับล่วงหน้าจากค่างานงวดสุดท้าย การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ
ต้องคำนวณจากเงินค่างานงวดสุดท้ายที่หักด้วยเงินรับล่วงหน้าส่วนที่เหลือจากเงินล่วงหน้าที่ได้หักประจำ
งวด แล้วคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากเงินค่างานในส่วนที่เหลือ ดังนั้น การปฏิบัติของบริษัทฯ
ตามข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว
2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ผู้ว่าจ้างต้องคำนวณจากเงินค่างานงวดสุดท้ายหัก
ด้วยเงินรับล่วงหน้าส่วนที่เหลือจากเงินรับล่วงหน้าที่ได้หักประจำงวด แล้วคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
โดยคำนวณจากเงินค่างานในส่วนที่เหลือ ดังนั้น การปฏิบัติของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว ทั้งนี้
ตามข้อ 1(1)(ข) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.73/2541 ฯ
เลขตู้: 63/29387

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020