เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.4624
วันที่: 7 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีโอนสิทธิตามประทานบัตร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1, มาตรา 86/10
ข้อหารือ: องค์การเหมืองแร่ในทะเล (อ.ม.ท.) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ในทะเล พ.ศ. 2518 ซึ่งต่อมามีพระราชกฤษฎีกา
ยุบเลิกองค์การเหมืองแร่ในทะเล พ.ศ. 2540 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ใน
ทะเล พ.ศ. 2518 แต่องค์การเหมืองแร่ในทะเลซึ่งได้ยุบเลิกไปนั้น ให้ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่
จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การเหมืองแร่ในทะเล พ.ศ.
2540 ขณะนี้คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่าง
ดำเนินการชำระบัญชี โดยชำระหนี้สินและจำหน่ายทรัพย์สินต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ เรือประทานบัตรเหมืองแร่
ในทะเล และทรัพย์สินอื่น ๆ ในการจำหน่ายสิทธิตามประทานบัตรเหมืองแร่ในทะเลนั้น อ.มาตราท. ได้
ทำสัญญาจะรับโอนสิทธิตามประทานบัตรกับ บริษัท ท. จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ตามสัญญานี้
แบ่งการชำระเงินเป็น 3 งวด และ อ.ม.ท. ได้รับชำระเงินจากบริษัทฯ แล้ว 2 งวด คือ งวดที่
1 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 จำนวน 200,000 บาท งวดที่ 2 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2543
จำนวน 1,400,000 บาท สำหรับงวดที่ 3 บริษัทฯ จะต้องชำระเงินจำนวน 400,000 บาท ภายใน 7
วัน นับแต่วันที่ อ.ม.ท. แจ้งให้ทราบถึงการอนุญาตให้โอนประทานบัตรได้ ทั้งนี้ การโอน
ประทานบัตรจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทฯ ต้องชำระ
ค่าธรรมเนียม ค่าจดทะเบียน ค่าตอบแทนการโอน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.
2510 แต่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เห็นชอบและหรือไม่อนุญาตให้โอนประทานบัตร ให้
ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกตามความในข้อ 6 ของสัญญา ซึ่ง อ.ม.ท. จะต้องคืนเงินจำนวน
1,600,000 บาท ให้แก่บริษัทฯ ทั้งหมด
อ.ม.ท. จึงขอหารือเกี่ยวกับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
1. โดยที่ อ.ม.ท. มิได้มีวัตถุประสงค์ในการโอนขายสิทธิตามประทานบัตรในทางธุรกิจ
การโอนสิทธิตามประทานบัตรเหมืองแร่กรณีนี้ อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และบุคคลใด
เป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. กรณี อ.ม.ท. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อ.ม.ท. ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีกรณีรับ
ชำระเงินค่างวด 2 งวด จำนวน 1,600,000 บาท ได้หรือไม่ เนื่องจากถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงิน
จองหรือเงินมัดจำ ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้โอนประทานบัตร
อ.ม.ท. จะต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ ทั้งหมด ทั้งนี้ ตามมาตรา 78(2) แห่งประมวลรัษฎากร
และข้อ 5(1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 เรื่อง การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือ
สัญญาซื้อขายผ่อนที่ชำระกรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อได้ส่งมอบ ตามมาตรา 78(2)
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 และเมื่อได้รับชำระงวดที่ 3 อีกจำนวน
400,000 บาท อ.ม.ท. จะออกใบกำกับภาษีเพียง 1 ฉบับ โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินจำนวน
2,000,000 บาท
แนววินิจฉัย: 1. สิทธิตามประทานบัตรเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้
เพื่อขาย เพื่อใช้หรือเพื่อการใด ๆ เข้าลักษณะเป็นสินค้า ตามมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น การโอนสิทธิตามประทานบัตร จึงเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา
77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร อ.ม.ท. ผู้โอนสิทธิตามประทานบัตรจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อ
ได้รับชำระราคาค่าสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 78/3(1) แห่งประมวลรัษฎากรและข้อ 2 ของ
กฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
2. กรณี อ.ม.ท. รับชำระเงินตามสัญญาโอนสิทธิตามประทานบัตรงวดที่ 1 และงวดที่ 2
รวม 1,600,000 บาท ถือเป็นการรับชำระราคาค่าสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งมีข้อตกลงให้แบ่งชำระได้ ไม่
เข้าลักษณะเป็นเงินจองหรือเงินมัดจำที่ชำระล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายก่อนทำการตกลงว่าจะซื้อขายสินค้าใน
ลักษณะซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือซื้อขายตามสัญญาให้เช่าซื้อ ซึ่งหากไม่มีการทำสัญญาซื้อขายให้สำเร็จ
บริบูรณ์ต้องมีการคืนเงินจองหรือเงินมัดจำ ตามข้อ 5(1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 ฯ
ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ดังนั้น อ.ม.ท. จึงมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิด
ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
3. กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เห็นชอบและหรือไม่อนุญาตให้โอนสิทธิ
ตามประทานบัตรซึ่ง อ.ม.ท. มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับชำระแล้วทั้ง 2 งวด อ.ม.ท. ต้องออกใบลดหนี้
ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ บริษัท ท. จำกัด ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/10(1) และ
(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(2) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่น ตามมาตรา 82/10(1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 63/29410

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020