เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.06)/พ.941
วันที่: 9 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78(2), มาตรา 82/3, มาตรา 86
ข้อหารือ: บริษัทฯ หารือว่า บริษัทฯ ทำสัญญาเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์มีกำหนดชำระค่าเช่าซื้อ (รวม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นรายเดือนแต่ในเดือนกรกฎาคมและเดือนกันยายน 2540 บริษัทฯ ไม่ชำระราคา
ค่าเช่าซื้อและมิได้รับใบกำกับภาษีของทั้งสองเดือนดังกล่าว ต่อมาในเดือนมีนาคม 2541 บริษัทฯ ได้
ชำระค่าเช่าซื้อของเดือนกรกฎาคม 2540 และผู้ให้เช่าซื้อได้ส่งใบกำกับภาษีให้บริษัทฯ ในเดือนเมษายน
2541 บริษัทฯ จึงหารือว่า ใบกำกับภาษีค่าเช่าซื้อรถยนต์ของเดือนกรกฎาคม 2540 ที่บริษัทฯ ได้รับมา
ในเดือนเมษายน 2541 จะนำมาใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีของเดือนเมษายน 2541 ได้หรือไม่
อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. เนื่องจากบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มีกำหนดชำระค่าเช่าซื้อ (รวม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นรายเดือน ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ให้เช่าซื้อจึงเกิดขึ้นเมื่อถึง
กำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ตามมาตรา 78(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น แม้ว่าบริษัทฯ ในฐานะผู้เช่าซื้อจะมิได้ชำระราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ในงวดเดือนกรกฎาคมและ
กันยายน 2540 ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดของ
ทั้งสองเดือนดังกล่าว แต่จะยังไม่ส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ก็ได้ ตามนัยข้อ 2(3) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 เรื่อง การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อ หรือสัญญาซื้อขาย
ผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ตามมาตรา 78(2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ใบกำกับภาษีซื้อค่าเช่าซื้อรถยนต์ประจำงวด
เดือนกรกฎาคม 2540 จึงต้องลงวันเดือนปีของเดือนกรกฎาคม 2540 หากบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษี
ของเดือนกรกฎาคม 2540 ในเดือนเมษายน 2541 บริษัทฯ ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำใบกำกับภาษีนั้นไปถือเป็น
ภาษีซื้อในเดือนเมษายน 2541 ได้ เนื่องจากเกินกำหนดหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่
ออกใบกำกับภาษี (เดือนกรกฎาคม) ตามมาตรา 82/3 วรรค 4 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ
2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไข กรณีภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษี เพราะมีเหตุจำเป็นให้มีสิทธินำไป
หักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้น ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25
ธันวาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่
76)ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541 ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.03)
เพิ่มเติมของเดือนกรกฎาคม 2540 เพื่อขอคืนเป็นเงินสดต่อไป
2. หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้เช่าซื้อมิได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับค่าเช่าซื้องวด
เดือนกรกฎาคม 2540 แต่ออกใบกำกับภาษีให้ในเดือนมีนาคม 2541 ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับชำระค่าเช่าซื้อ
จริง ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้จัดทำใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตาม
มาตรา 78(2) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของ
จำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(5)แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ให้เช่าซื้อนำ
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ไม่ได้จัดทำดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการแล้ว โดยไม่ได้รับคำเตือน
หรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89(5)
แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 เรื่อง การคำนวณ
เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่
27 มกราคม พ.ศ. 2542 แต่ผู้ให้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 90/2(3) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี กรณีผู้ให้เช่าซื้อจัดทำใบกำกับภาษีเมื่อรับชำระค่าเช่าซื้อในเดือนมีนาคม
2541 และส่งมอบให้แก่บริษัทฯ ในเดือนเมษายน 2541 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักใน
การคำนวณภาษีในเดือนภาษีที่ได้รับใบกำกับภาษีนั้นได้ ตามมาตรา 82/3 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนด
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกรณีภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะมี
เหตุจำเป็นให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้น ตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76)ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2541
เลขตู้: 63/29479

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020