เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5934
วันที่: 20 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากสินทรัพย์สำรองของกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535
ข้อหารือ: กิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ได้นำเงินทุนส่วนหนึ่งที่สำรองไว้เพื่อใช้ในการดำเนิน
กิจการวิเทศธนกิจตามเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย ไปฝากไว้กับสถาบันการเงินในรูปของ
บัญชีเงินฝากประจำเป็นเงินบาทและได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเป็นเงินบาทจากสถาบันการเงินเป็นผล
ตอบแทนกิจการ เข้าใจว่า รายได้ที่จะนำไปคำนวณกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจนั้น
หมายถึง รายได้จากกิจการวิเทศธนกิจและรวมถึงรายได้เนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี
ด้วย ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ ถือเป็นรายรับเนื่องจากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ จึงมีสิทธินำ
ดอกเบี้ยเงินฝากไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิได้ตาม
มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535
แนววินิจฉัย: กรณีการฝากเงินทุนส่วนหนึ่งที่สำรองไว้เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการวิเทศธนกิจไปฝากไว้กับ
สถาบันการเงินในรูปบัญชีเงินฝากประจำที่เป็นเงินบาท และได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเป็นเงินบาทเป็นผล
ตอบแทนนั้น มิใช่การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ตามความหมายในข้อ 1 ของ
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16
กันยายน พ.ศ. 2535 ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจึงมิใช่รายรับเพื่อการคำนวณกำไรที่พึงถือว่าเป็นกิจการ
วิเทศธนกิจ ตามความหมายในข้อ 1(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่
47)ฯ ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 50)ฯ ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดังนั้น กิจการวิเทศธนกิจของ
ธนาคารพาณิชย์จึงไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ใน
อัตราร้อยละ 10 ได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535
เลขตู้: 63/29585

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020