เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.6195
วันที่: 27 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีวันที่ในใบกำกับภาษีเขียนด้วยหมึก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการ และได้ SET ข้อมูลต่าง ๆ
แยกประเภทเป็นชุด ๆ ใช้ใบแจ้งหนี้ 1 ชุด ใบเสร็จรับเงิน 1 ชุด ใบกำกับภาษี 1 ชุด โดย SET
RUNNING NUMBER ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยคำว่า ใบกำกับภาษี ชื่อ ที่อยู่ และ
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นฉบับแรกของเอกสาร เมื่อมีการ
ให้บริการจะออกใบแจ้งหนี้ให้ลูกค้า 1 ชุด ส่วนใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีบริษัทฯ จะออกให้ลูกค้า
เมื่อลูกค้าชำระเงินค่าบริการให้บริษัทฯ แล้วบริษัทฯ จะ PRINT ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้
ลูกค้าเมื่อวันที่รับชำระเงิน แต่เนื่องจากลูกค้าบางราย เมื่อนัดชำระค่าบริการแต่ตีเช็คในวันรุ่งขึ้นหรือ
บางทีตีเช็คให้อีก 15 วันข้างหน้า บริษัทฯ จึงเว้นวันที่ไว้เมื่อรับชำระค่าบริการจึงจะลงวันที่ตามที่ลูกค้า
ระบุในเช็ค โดยเขียนวันที่ที่ได้รับชำระเงินจากลูกค้าแทนการพิมพ์ในใบกำกับภาษี บริษัทฯ ขอให้
กรมสรรพากรพิจารณาว่าการเติมวันที่โดยใช้ปากกาเติมในวันที่ลูกค้าชำระค่าบริการ ถือเป็นใบกำกับภาษี
ที่ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งต้องจัดทำใบกำกับภาษี
ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร โดยจัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะจัดทำรายการของใบกำกับภาษีโดยวิธีใด ถือว่าผู้ขายสินค้าได้ออกใบกำกับภาษี
ที่มีรายการครบถ้วนแล้ว แต่ถ้าหากจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากร จะต้องรับผิดตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีผู้ประกอบการ ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากรโดยเป็นฉบับแรกของเอกสารและรายการคำว่า “ใบกำกับภาษี” ตามมาตรา 86/4(1)
และรายการคำว่า “ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่
ออกใบกำกับภาษี” ตามมาตรา 86/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้ตีพิมพ์จากโรงพิมพ์ รายการ ตาม
มาตรา 86/4 ของใบกำกับภาษีจะต้องจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จึงจะนำภาษีซื้อตาม
ใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายได้ หากรายการใดรายการหนึ่งมิได้จัดทำโดยระบบ
คอมพิวเตอร์ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามข้อ 2(5)(12) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
3. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยรายการคำว่า“ใบกำกับภาษี”ตามมาตรา 86/4 (1) และ“ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี” ตามมาตรา 86/4(2)แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำด้วย
ระบบคอมพิวเตอร์รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องตีพิมพ์หรือจัดทำขึ้นด้วย
ระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีจึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งนี้ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดทำใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะ
เป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2542
เลขตู้: 63/29605

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020