เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/6257
วันที่: 28 กรกฎาคม 2542
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
ข้อหารือ: นาย ก. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเลขที่ 00001 ตำบลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน
กรุงเทพฯ เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 1 งาน 26 ตารางว่าเมื่อปี พ.ศ. 2512 นับถึงบัดนี้เป็นเวลาประมาณ
สามสิบปีแล้ว นาย ก. มีความประสงค์จะขายที่ดินทั้งหมด แต่ที่ดินมีจำนวนมาก และราคาซื้อขายสูงมาก
เป็นเหตุให้ไม่อาจขายได้ทีเดียวทั้งหมด นาย ก. จึงได้ทำการขอรังวัดแบ่งแยกเป็นแปลงเล็ก ๆ ในนาม
เดิม จำนวน 6 แปลง ๆ ละ 1 งาน ซึ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 00001/1, 00001/2, 00001/3,
00001/4, 00001/5 และ 00001/6 โดยโฉนดดังกล่าวได้ออกให้ นาย ก. ในปี พ.ศ.2541 และ
เหลือเนื้อที่ดินที่ไม่ได้แบ่งแยกอีก 6 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ที่ดินแต่ละแปลงที่แบ่งแยกจะขายแปลงละ
1,000,000 บาท และสามารถขายได้แล้ว 3 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 00001/1 โอนกรรมสิทธิ์ไปเมื่อ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2542 โฉนดเลขที่ 00001/2 โอนกรรมสิทธิ์ไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 และ
โฉนดเลขที่ 00001/4 โอนกรรมสิทธิ์ไปเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2543 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร
สาขาบางเขน นาย ก.ได้เสียค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ซึ่ง
ภาษีธุรกิจเฉพาะได้เสียไปแล้วแปลงละ 59,400 บาท ณ สำนักงานที่ดินดังกล่าว นาย ก. เห็นว่า
การขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งไม่ได้มีการพัฒนาที่ดินหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะ
เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าห้าปี นับแต่วันที่ได้มา ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 จึงหารือว่า การขายที่ดินที่แบ่งแยกดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หรือไม่
แนววินิจฉัย: หาก นาย ก. แบ่งแยกที่ดินเป็นแปลง ๆ จำนวน 6 แปลง โดยไม่ได้ขออนุญาตทำ
การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน และไม่มีการจัดทำถนนหรือสิ่ง
สาธารณูปโภคอื่นการขายที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวเป็นการขายเกินกว่าห้าปีนับแต่วันที่ได้มา จึงไม่เข้า
ลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 นาย ก. จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29617

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020