เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.04)/1198
วันที่: 27 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 67 ทวิ (2), มาตรา 65 ทวิ (5)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม
2542 โดยแสดงกำไรสุทธิจริงของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรกไว้ จำนวน 39,355,097.79 บาท
คิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 11,806,529.34 บาท หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 419,104.61 บาท
เป็นเงินภาษีที่ต้องชำระ 11,387,424.73 บาท บริษัทฯ ใช้สิทธิขยายเวลาการชำระภาษีตาม
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลาการชำระภาษีอากรสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการตาม
มาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ต่อมาเมื่อวันที่ 18
กุมภาพันธ์ 2543 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงกำไรสุทธิจริงของรอบ
ระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรกจากที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ในครั้งแรกไว้ จำนวน 39,355,097.79 บาท
เป็นกำไรสุทธิเพียง 30,288,731.61 บาท คิดเป็นเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระ (หักภาษีเงินได้
หัก ณ ที่จ่ายแล้ว) 8,667,514.87 บาท เนื่องจากได้บริษัทฯ คำนวณมูลค่าหนี้สินที่เป็นเงินตรา
ต่างประเทศเป็นเงินตราไทย เพื่อบันทึกผลกำไรหรือผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับหนี้สินที่บริษัทฯ
มีอยู่ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2542 รวมไว้ด้วย ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 65 ทวิ (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ได้ชำระภาษีพร้อมการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่ 2 ไว้จำนวน
8,667,514.87 บาท ตามใบเสร็จรับเงิน ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่า
1. บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายในกำหนดเวลา และมีสิทธิขอขยายเวลาการ
ชำระภาษีอากร ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ การเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินภาษีกลางปี ไม่เป็นเหตุให้
บริษัทฯ หมดสิทธิชำระภาษีตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ฉบับดังกล่าว และการชำระเงินภาษีอากร
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นการชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับแรก ที่ได้ยื่นไว้ภายใน
กำหนดเวลา พร้อมกับแก้ไขเพิ่มเติมรายการโดยแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่ 2 บริษัทฯ จึงไม่มีกรณีต้องรับ
ภาระตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีของบริษัทฯ เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ตามมาตรา 12 แห่ง
ประมวลรัษฎากรได้เนื่องจากภาษีอากรค้างจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเป็น “ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตาม
ลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง...” ตามมาตรา 12
วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร แต่ภาษีอากร กลางปีนั้นเป็นการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลา ซึ่งตาม
มาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้แต่เพียงว่า “...ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่น
รายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีต่ออำเภอ...”ไม่ได้กำหนดให้บริษัทฯ ต้องเสียภาษีตาม
จำนวนที่ชำระแต่ประการใด และตามมาตรา 67 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรได้บัญญัติว่า “ภาษี
ที่ชำระตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68” แสดงว่าภาษีกลาง
ปีที่ชำระพร้อมการยื่นรายการนั้นไม่ใช่ภาษีที่ต้องเสีย หากแต่เป็นการจัดเก็บก่อนถึงกำหนดเวลาและคืนให้
ทั้งหมดด้วยวิธีเครดิตภาษีโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบก่อน และถ้าคำนวณแล้วไม่มีภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา
68 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ยังคงมีสิทธิยื่นคำร้องขอภาษีดังกล่าวคืนได้ ภาษีกลางปีจึงมิใช่
ภาษีอากรที่ต้องเสีย อีกทั้งในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 บริษัทฯ ประกอบกิจการขาดทุน บริษัทฯ จึง
ไม่มีภาษีต้องเสียแต่อย่างใด แม้บริษัทฯ จะมิได้ชำระภาษีกลางปีหรือชำระไว้บางส่วน ภาษีดังกล่าวก็มิใช่
เป็นภาษีอากรค้าง เจ้าพนักงานจึงไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ของบริษัทฯ ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร
ได้
3. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับ
รอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 โดยแสดงการคำนวณกำไรสุทธิไว้ ดังนี้
กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี 25,754,634.84 บาท
ภาษีเงินได้ร้อยละ 30 7,726,390.45 บาท
หัก ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 85,982.31 บาท
หัก ภาษีที่ชำระตามแบบ ภ.ง.ด.51 8,667,514.87 บาท
ชำระภาษีไว้เกิน 1,798,106.73 บาท
การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชี 2542 ของบริษัทฯ ดังกล่าว
ถูกต้องแล้ว และบริษัทฯ ไม่มีภาระภาษีใด ๆ ตามกฎหมาย
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542
ฉบับแรก เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2542 แสดงกำไรสุทธิจริงที่ต้องคำนวณภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2)
แห่งประมวลรัษฎากรไว้จำนวน 39,355,097.79 บาท มีเงินภาษีต้องชำระจำนวน 11,387,424.73
บาท แต่ยังไม่ได้ชำระภาษี เนื่องจากบริษัทฯ ขอใช้สิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ซึ่งการ
ขยายเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลงภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามแบบ
ภ.ง.ด.51 ที่ยื่นไว้จำนวน 11,387,424.73 บาท ให้เสร็จสิ้นไปภายในกำหนดเวลาตามที่ได้รับสิทธิ
ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ฉบับดังกล่าว
2. กรณีบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่ 2 เพื่อขอแก้ไขจำนวนกำไรสุทธิจริงที่ต้อง
คำนวณภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และเพื่อปรับลดยอดภาษีให้ต่ำกว่ายอดภาษี
ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับแรกโดยอ้างว่าได้คำนวณมูลค่าหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตรา
ไทย เพื่อบันทึกผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 ไปแล้ว โดยมีเงินภาษีที่
ชำระไว้เกินจำนวน 1,798,106.73 บาท ก็ไม่เป็นผลลบล้างจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามแบบ
ภ.ง.ด.51 ที่ได้ยื่นไว้เดิม เนื่องจากแบบดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตั้งแต่แรก ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ
ไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วน บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับแรกไว้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2542 แต่ยัง
มิได้ชำระภาษี เนื่องจากขอใช้สิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังฯ สำนักงานสรรพากรเขตในท้องที่ที่
สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ตั้งอยู่ ได้ตั้งหนี้ภาษีอากรค้างตามแบบ บ.ช.35 (แบบแจ้งการค้างชำระ
ภาษีอากร) แล้ว เมื่อครบกำหนดขยายเวลาการชำระภาษีตามประกาศกระทรวงการคลังฯ บริษัทฯ
ยังไม่ได้ชำระภาษีให้ครบถ้วน จำนวนภาษีอากรค้าง กรมสรรพากร จึงมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา
12 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับแรก ภายในกำหนดเวลา ซึ่ง
ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายมาตั้งแต่แรก บริษัทฯ จะต้องชำระภาษีตามแบบดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน
กำหนดเวลาตามที่ได้รับสิทธิ (หรือภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543) ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระภาษีภายใน
กำหนดเวลาไว้แล้วตามแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่ 2 ถือว่าได้ชำระภาษีไว้เพียงบางส่วน สำหรับภาษีส่วนที่
ยังไม่ได้ชำระจึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ต้องเสีย
เงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องเสีย ตามมาตรา 27 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ มีสิทธิที่จะนำภาษีที่ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ดังกล่าว ไปถือเป็น
เครดิตในการคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี และหากคำนวณแล้วมีภาษีที่
ชำระไว้เกิน บริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบ ค.10
เลขตู้: 63/29643

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020