เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.07)/พ.1046
วันที่: 26 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายค่าบริการในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 83/6(2)
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย ได้จ้างบริษัท A. และ บริษัท B. เพื่อ
ให้บริการจัดหาพนักงานให้กับบริษัทฯ โดยทั้งสองบริษัทเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศออสเตรเลีย
พนักงานที่บริษัทต่างประเทศจัดหามาให้นั้นจะต้องเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ภายใต้นโยบายที่
บริษัทฯ กำหนด บริษัทฯ จะดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยให้กับพนักงาน และบริษัทฯ
เป็นผู้จ่ายเงินเดือนซึ่งส่วนหนึ่งบริษัทฯจะจ่ายให้กับพนักงานโดยตรงในประเทศไทย อีกส่วนหนึ่ง
บริษัทต่างประเทศจะทดรองจ่ายเข้าบัญชีของพนักงานในประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทฯ จะจ่ายคืนให้
กับบริษัทต่างประเทศและบริษัทต่างประเทศจะเรียกเก็บค่าบริการสำหรับการจ่ายเงินเดือนแทนบริษัทฯ
และยื่นภาษีเงินได้ของพนักงานในต่างประเทศเป็นจำนวนเงิน 1%ของจำนวนเงินที่บริษัทต่างประเทศ
ทดรองจ่ายไป บริษัทฯ จึงหารือว่าค่าบริการที่บริษัทต่างประเทศเรียกเก็บสำหรับการให้บริการจ่าย
เงินเดือนพนักงานแทนบริษัทฯ และยื่นภาษีเงินได้ของพนักงานในต่างประเทศนั้นไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและไม่มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย
ตามมาตรา 83/6(2) ใช่หรือไม่ หากถือว่าการให้บริการดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 83/6 ฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มควรจะคิดจากค่าบริการในจำนวน 1% เท่านั้น
ไม่ควรเอาเงินเดือนของพนักงานที่บริษัทต่างประเทศทดรองจ่ายไปก่อนมาเป็นฐานในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย: การจ่ายค่าบริการสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงานแทนบริษัทฯ และยื่นภาษีเงินได้ของ
พนักงานในต่างประเทศให้แก่บริษัทในต่างประเทศเป็นจำนวนเงินร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่
บริษัทต่างประเทศได้ทดรองจ่ายไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้
ผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการในราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่าย
ค่าบริการดังกล่าวออกไปให้บริษัทต่างประเทศ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 63/29562

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020