เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/32334
วันที่: 28 สิงหาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าจ้างติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78/1(1)
ข้อหารือ: 1. กรณีการโอนหนี้ รวมทั้งสิทธิการรับเงินและเอกสารการผ่อนชำระหนี้ (Deferred
Payment Notes หรือ DPN) โดยหนี้ระหว่างบริษัท A. กับ B. หรือกรณีการชำระหนี้โดยการโอน
ลูกหนี้ให้แก่ B. ตามมาตรา 321 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยหนี้เป็นอันระงับไป กรณีนี้
ยังไม่มีภาระต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ต่อมาเมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่ B.
ตาม DPN แล้ว บริษัท A. ในฐานะผู้รับเหมาจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ พร้อมทั้ง
ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินให้ B.ตามจำนวนเงินที่บริษัทฯ เป็นหนี้ค่าจ้าง
ทำของกับบริษัท A. ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวเป็นจำนวนเงินหลังจากที่บริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ไว้แล้ว บริษัทฯ ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้แก่บริษัท A. ในส่วนของ B. จะ
ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้กับบริษัท A. โดยบริษัท A. ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ B.
2. กรณี B. ซึ่งรับโอน DPN มาจากบริษัท A. แล้วโอน DPN ต่อให้แก่บุคคลอื่น (ผู้ถือ
DPN) หรือกรณีบริษัท A. โอน DPN ให้แก่ผู้อื่น เช่น สถาบันการเงินหรือบริษัทอื่น ๆ ในต่างประเทศ
การโอน DPN มีภาระต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และหากบริษัทฯ ได้
ชำระเงินตาม DPN ดังกล่าวแล้ว บริษัท A. และ B. จะมีภาระภาษีอากรเช่นเดียวกับข้อ 1.
ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัท A. จะชำระหนี้ด้วยการโอนหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตนมีต่อบริษัทฯ ไปให้ B. และ B. ยอมรับชำระหนี้นั้น โดยคู่กรณี
ต้องการให้หนี้ระหว่างบริษัท A. กับ B. เป็นอันระงับสิ้นไปตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 321 วรรคหนึ่ง
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ซึ่งตามความจริง B. ยังไม่ได้รับผลจากการชำระหนี้โดยแท้จริง
แต่ประการใด ทั้งนี้ จนกว่า B. จะได้รับชำระเงินจากบริษัทฯ ตามการโอนหนี้ดังกล่าวอันถือเป็นการ
ชำระราคาค่าบริการตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
1.1 การโอนหนี้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
หรือต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประการใด
1.2 เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่ B. ตาม DPN แล้ว บริษัท A. ในฐานะผู้รับเหมาจะ
ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ พร้อมทั้งออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้แก่ บริษัท A. ในส่วน
ของ B. จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้กับบริษัท A. โดยบริษัท A. ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ B.
2. หาก B. ซึ่งรับโอน DPN มาจากบริษัท A. แล้วโอน DPN ต่อให้แก่บุคคลอื่น (ผู้ถือ
DPN) หรือกรณีบริษัท A. โอน DPN ให้แก่ผู้อื่น เช่น สถาบันการเงินหรือบริษัทอื่น ๆ ในต่างประเทศ
การโอนสิทธิที่จะได้รับชำระเงินดังกล่าว B. และบริษัท A. ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประการใด
เลขตู้: 63/29719

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020