เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/32577
วันที่: 31 สิงหาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8)
ข้อหารือ: ห้างฯ ได้ขายอาคารที่พักอาศัยพร้อมที่ดินให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแบ่งจ่ายเป็น
2 งวด งวดแรกเป็นจำนวนเงิน 44,752,500 บาท และงวดที่สองเป็นจำนวนเงิน 402,772,500
บาท ห้างฯ ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงการคลัง (เพื่อราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2543 เป็นจำนวนเงิน 447,525,000 บาท สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร
สาขาบางขุนเทียน ได้หักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาทุนทรัพย์ เป็น
จำนวนเงิน 4,475,250 บาท แต่สำนักงานตำรวจฯ ยังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ห้างฯ เพราะตามสัญญาได้
กำหนดเงื่อนไขให้ผู้จะขายต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อก่อนจึงจะได้รับเงินต่อมาเมื่อวันที่
28 เมษายน 2543 สำนักงานตำรวจฯ ได้จ่ายเงินงวดแรกให้แก่ห้างฯ ได้หักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ
ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรอีก เป็นจำนวนเงิน 447,525 บาท
ห้างฯ จึงหารือว่า
1. การที่สำนักงานที่ดินฯ ได้หักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายของห้างฯ ในอัตราร้อยละ 1
ของราคาทุนทรัพย์ในวันโอนกรรมสิทธิ์ เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่
2. เมื่อสำนักงานตำรวจฯ ได้จ่ายเงินให้แก่ห้างฯ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย
ในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนที่จ่าย ตามมาตรา 50(4) และ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้อง
หรือไม่
3. การหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของสำนักงานตำรวจฯ เป็น
การหักภาษีซ้ำซ้อนกับสำนักงานที่ดินฯ หรือไม่
4. ในกรณีดังกล่าว ห้างฯ และสำนักงานตำรวจฯ ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง
แนววินิจฉัย: กรณีสำนักงานตำรวจฯ ได้ซื้ออาคารที่พักอาศัยพร้อมที่ดิน เข้าลักษณะเป็นการจ่าย
เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
พิจารณาได้ดังนี้
1. กรณีผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำนักงานตำรวจฯ มีหน้าที่หักภาษี
ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจดทะเบียน ตามมาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ตามมาตรา 48(4)(ก) หรือ (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วแต่กรณี แต่ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ใน
อัตราร้อยละ 1 ของจำนวนที่จ่ายตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีผู้ขายเป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
และเงินที่จ่ายเป็นจำนวนตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป สำนักงานตำรวจฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่จ่ายในแต่ละงวด ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 เมื่อมีการจดทะเบียน ตาม
มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อีก
เมื่อห้างฯ ถูกสำนักงานตำรวจฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้จำนวนเดียวกัน 2
ครั้ง จึงเป็นกรณีห้างฯ ถูกสำนักงานตำรวจฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ ห้างฯ จึง
ต้องเป็น “ผู้ขอคืน” โดยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามแบบ ค.10 ณ ฝ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายและคืน
ภาษี สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ และห้างฯ ไม่ต้องนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ
ไปเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีแต่อย่างใด
เลขตู้: 63/29732

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020