เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.704
วันที่: 20 กันยายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมสำหรับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17), มาตรา 91/2(6), มาตรา 104
ข้อหารือ: กรณีกรมการบินพาณิชย์ได้รับอนุมัติให้ใช้งบกลางเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่ราษฎร ตาม
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานี จึงหารือว่าราษฎรจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าอากร และค่า
ภาษี ในการโอนขายที่ดินเพิ่มเติมจากที่จ่ายไว้ ณ สำนักงานที่ดินอีกหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรมการบินพาณิชย์ได้ดำเนินการตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานีระยะเวลา
ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531-2534 รวม 4 ปี เนื้อที่ตามโครงการฯ ประมาณ 173 ไร่
กรมการบินพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินและเวนคืนที่ดินจากราษฎร ดังนี้
ก. จัดซื้อโดยวิธีปรองดองก่อนออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน
ในระหว่างปี พ.ศ. 2530-2531 จำนวน 30 ไร่ 90.6 ตารางวา
ข. จัดซื้อหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ซึ่งออกตามความใน
มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 (พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้
บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2531 กำหนดอายุ 2 ปี) จำนวน 91 ไร่ 1 งาน 70.8 ตารางวา
ค. เวนคืนตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
ซึ่งได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนฯ เมื่อปี พ.ศ. 2534 จำนวน 51 ไร่ 87.1 ตารางวา
ในการจัดซื้อที่ดินตาม ข ราษฎรเจ้าของที่ดินบางส่วนได้อุทธรณ์ราคาที่เสนอซื้อและฟ้องร้องต่อ
ศาล ศาลพิพากษาให้กำหนดราคาที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 4
กุมภาพันธ์ 2540 ให้กรมการบินพาณิชย์จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้ราษฎรเจ้าของที่ดินตาม ก ข และ ค
ทุกราย
ดังนั้น ภาระภาษีอากรสำหรับการจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มจึงเป็นดังนี้
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินค่าทดแทนที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(29) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความ
ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ต้องเป็นเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืน
อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น
1.1 กรณีตาม ก เงินค่าทดแทนสำหรับการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีปรองดองก่อนออก
พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน มิใช่เงินค่าทดแทนที่จ่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วย
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น เงิน
ค่าทดแทนเพิ่มเติมจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.2 กรณีตาม ข และ ค เงินค่าทดแทนสำหรับการจัดซื้อที่ดินในระหว่างมี
พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน และสำหรับการเวนคืนตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วย
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เป็นเงินค่าทดแทนที่จ่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
พ.ศ. 2530 จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น เงินค่าทดแทนเพิ่มเติมจึงได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. ภาษีการค้า
เนื่องจากการขายที่ดินและการเวนคืนที่ดินของราษฎร เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.
2530-2534 เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานี หากผู้ขายเป็น
บุคคลธรรมดาถือว่าไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าตาม
ประเภทการค้า 11 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า ดังนั้น เงินค่าทดแทนที่ได้รับเพิ่มเติมจึงไม่ต้องเสีย
ภาษีการค้า
3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
เนื่องจากการขายที่ดินและการเวนคืนที่ดินตาม ก ข และ ค เกิดขึ้นในระหว่างปี
พ.ศ. 2530-2534 จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินค่าทดแทนที่จ่ายเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริงจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
4. อากรแสตมป์
4.1 กรณีตาม ก เนื่องจากการโอนขายอสังหาริมทรัพย์ในกรณีดังกล่าวไม่เข้า
หลักเกณฑ์ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ผู้ออกใบรับ
สำหรับการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จึงมีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 28(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังนั้น การรับเงินทดแทนเพิ่มเติม
จึงต้องเสียอากรแสตมป์
4.2 กรณีตาม ข และ ค เนื่องจากเงินค่าทดแทนที่จ่ายเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของ
ค่าเวนคืน จึงได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ตามมาตรา 11 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการ
เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
เลขตู้: 63/29836

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020