เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.1172
วันที่: 2 ตุลาคม 2543
เรื่อง: ภาระภาษีอากรจากการจ่ายเงินชดเชยตามสัญญาร่วมลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65
ข้อหารือ: กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้หารือปัญหาภาษีอากรเกี่ยวกับมาตรการ
ฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินวันที่ 14 สิงหาคม 2541 ที่ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ
สถาบันการเงินขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ที่กองทุนฯ ถือให้แก่ผู้ร่วมทุนรายใหม่ในการซื้อหุ้นของ
ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ร่วมลงทุนมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ กองทุนฯ ได้ทำสัญญา
ชดเชยความเสียหายจากการซื้อหุ้นดังกล่าวต่อผู้ร่วมลงทุนโดยมีการรับประกันหนี้ดังกล่าว 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 (50 เปอร์เซ็นต์แรกของจำนวนหนี้) กองทุนฯ รับประกันเต็มจำนวนกล่าวคือ ใน
ส่วนแรกนี้หากเรียกเก็บเงินได้ไม่ครบตามจำนวนกองทุนฯ จะชำระให้จนครบ
- ส่วนที่ 2 (50 เปอร์เซ็นต์หลังของจำนวนหนี้) กองทุนฯ จะรับประกันร้อยละ 85 ส่วนที่
เหลือผู้ร่วมลงทุนจะรับภาระเอง กล่าวคือ ในส่วนที่ 2 หากเรียกเก็บได้ไม่ครบตามจำนวน กองทุนฯ จะ
ชำระให้เพียงร้อยละ 85 ของหนี้จำนวนนี้
กองทุนฯ จึงขอหารือ ดังนี้
1. กรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีผลขาดทุนจากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่เป็นลูกหนี้ เงินกู้ที่มีอยู่ก่อน
ที่ผู้เข้าร่วมลงทุนจะเข้ามาบริหารกิจการ กองทุนฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย ดังกล่าว โดย
กองทุนฯ จะจ่ายเงินชดเชยผลขาดทุนนั้นให้ธนาคารพาณิชย์ตามสัดส่วนที่ตกลงกัน เงินที่กองทุนฯ จ่าย
ชดเชยให้ธนาคารพาณิชย์นี้จะเป็นการจ่ายชดเชยให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ธนาคารได้บันทึกบัญชีแล้ว
กองทุนฯ จึงขอหารือว่า เงินชดเชยดังกล่าวธนาคารพาณิชย์ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้และ
ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ อย่างไร
2. หากธนาคารสามารถเรียกเก็บหนี้ด้อยคุณภาพได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญา กองทุนฯ
จะจ่ายผลตอบแทนเพิ่มเติมให้แก่ธนาคารพาณิชย์ตามอัตราที่ตกลง กองทุนฯ จึงขอหารือว่า
ธนาคารพาณิชย์จะมีภาระภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่อย่างไร
3. ในการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ หากธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บดอกเบี้ยได้ต่ำกว่า
ดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายให้แก่ผู้ฝากเงิน กองทุนฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนขาด
ดังกล่าวให้แก่ธนาคารพาณิชย์ กองทุนฯ จึงขอหารือว่าธนาคารพาณิชย์จะมีภาระภาษีเงินได้และ
ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: การทำสัญญาชดเชยความเสียหายในลักษณะดังกล่าว ซึ่งมิได้เป็นการชำระหนี้แทน ลูกหนี้ของ
ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องจากลูกหนี้ของธนาคารได้ทั้งจำนวนแม้ว่าจะได้
รับเงินชดเชยจากกองทุนฯ แล้วก็ตาม ดังนั้น
1. กรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีผลขาดทุนจากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่เป็นลูกหนี้ก่อนที่ผู้เข้าร่วม
ลงทุนจะเข้ามาบริหารกิจการ หากกองทุนฯ จะจ่ายเงินชดเชยผลขาดทุนดังกล่าวโดยจ่ายชดเชยให้ทั้ง
เงินต้นและดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์บันทึกบัญชีไปแล้ว พิจารณาได้ดังนี้
เนื่องจากกองทุนฯ มิได้มีฐานะเป็นลูกหนี้เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องชำระคืนเงินต้นและ
ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงินให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เงินชดเชยที่กองทุนฯจ่ายให้ธนาคารพาณิชย์
ตามสัญญาร่วมลงทุนจึงถือเป็นเงินได้ของธนาคารพาณิชย์ทั้งจำนวน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องนำมารวม
คำนวณเป็นรายได้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเนื่องจากการชำระหนี้ดังกล่าวก็มิใช่การชำระ
ดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงินของลูกหนี้ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2. กรณีที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บหนี้ด้อยคุณภาพได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาหากกองทุนฯ
จ่ายผลตอบแทนเพิ่มเติมให้ธนาคารพาณิชย์ พิจารณาได้ดังนี้
เนื่องจากค่าตอบแทนที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการของ
ธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และ
เนื่องจากค่าตอบแทนที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับเกิดจากกรณีที่ธนาคารดำเนินกิจการของตนเองในการบริหาร
หนี้ด้อยคุณภาพ การบริหารหนี้ดังกล่าวจึงมิใช่การให้บริการแก่กองทุนฯ เมื่อกองทุนฯ จ่ายผลตอบแทน
เพิ่มเติมให้ธนาคารพาณิชย์ ผลตอบแทนดังกล่าวจึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด
3. กรณีที่ธนาคารพาณิชย์บริหารหนี้ด้อยคุณภาพและเรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ดังกล่าวได้ต่ำ
กว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายให้แก่ผู้ฝากเงิน หากกองทุนฯ จะจ่ายเงินชดเชยส่วน
ที่ขาดระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายให้ผู้ฝากเงินกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ได้
จากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ พิจารณาได้ดังนี้
เนื่องจากกองทุนฯ มิได้มีฐานะเป็นลูกหนี้เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องชำระคืนเงินต้นและ
ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงินให้แก่ธนาคาร ดังนั้น เงินชดเชยที่กองทุนฯ จ่ายให้ธนาคารพาณิชย์ตาม
สัญญาร่วมลงทุนจึงถือเป็นเงินได้ของธนาคารพาณิชย์ทั้งจำนวน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องนำมารวมคำนวณ
เป็นรายได้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเนื่องจากการชำระหนี้ดังกล่าวก็มิใช่การชำระดอกเบี้ย
ของการกู้ยืมเงินของลูกหนี้ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
เลขตู้: 63/29865

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020