เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.1597
วันที่: 16 ตุลาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของกระทรวงสาธารณสุข
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2(2), มาตรา 80
ข้อหารือ: กระทรวงสาธารณสุขได้ทำสัญญาซื้อครุภัณฑ์กับบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศโดยสัญญา
ลงนามในประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. กระทรวงสาธารณสุขชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าครุภัณฑ์จากต่างประเทศด้วยเงิน
งบประมาณ แต่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อชำระหนี้ค่า
ครุภัณฑ์ให้แก่บริษัทคู่สัญญาซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
2. ข้อตกลงในการจัดซื้อครุภัณฑ์ เป็นรายการจำนวนครุภัณฑ์ 1 ชุด/ชิ้น คิดราคาเหมาจ่าย
เป็น Unit Cost กล่าวคือ ราคาขายรวมบริการส่งมอบ ติดตั้ง ฝึกอบรม บำรุงรักษาและซ่อมบำรุงไว้
ด้วย โดยที่ครุภัณฑ์แต่ละชุดจะมีส่วนประกอบหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนมีแหล่งผลิตจากในประเทศและ
ต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น
2.1 สัญญาซื้อเครื่องติดตามการทำงานของอวัยวะสำคัญของร่างกาย (Patient Monitor)
ประกอบด้วยตัวเครื่อง Main Unit และส่วนประกอบ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องดังกล่าว
สามารถใช้งานได้ทันที อย่างไรก็ดี เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย จึงมี Stabilizer และรถเข็น
สี่ล้อสำหรับเคลื่อนย้ายเครื่อง Patient Monitor ซึ่งผลิตในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบด้วย กรณี
ดังกล่าว มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
(1) บริษัทคู่สัญญาซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศได้ออกอินวอยซ์ (Invoice)
เรียกเก็บค่าครุภัณฑ์จากกระทรวงสาธารณสุขโดยแสดงราคา ซี.ไอ.เอฟ ตามจำนวนที่ตกลงกันตาม
Contract Price กล่าวคือ เป็นราคารวมที่คำนวณจากตัวเครื่อง Main Unit และส่วนประกอบตัว
Stabilizer และรถเข็นสี่ล้อสำหรับเคลื่อนย้ายเครื่อง Patient Monitor กระทรวงสาธารณสุขได้
ดำเนิน พิธีการศุลกากรนำเข้าตัวเครื่อง Main Unit และส่วนประกอบ โดยชำระภาษีนำเข้า
ค่าธรรมเนียม และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณจากราคารวมตาม Contract Price
(2) ผู้ประกอบการในประเทศไทยซึ่งผลิตตัว Stabilizer และรถเข็นสี่ล้อสำหรับ
เคลื่อนย้ายเครื่อง Patient Monitor ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทคู่สัญญาของกระทรวง สาธารณสุข
และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ซึ่งต่อมาบริษัทคู่สัญญาได้เรียกร้องค่าภาษี มูลค่าเพิ่มดังกล่าว
จากกระทรวงสาธารณสุข
2.2 สัญญาซื้อครุภัณฑ์เตียงผู้ป่วยในจำนวน 2,067 เตียง ซึ่งบริษัทคู่สัญญาสั่งซื้อจาก
ผู้ประกอบการในประเทศไทยและส่งมอบให้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ประกอบการในประเทศไทย
นำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งส่วนประกอบที่สำคัญ คือ Motor จากต่างประเทศเพื่อการผลิตเตียงผู้ป่วย
ใน และผู้ประกอบการในประเทศไทยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ไปแล้ว
กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าแต่อย่างใด แต่บริษัทคู่สัญญาเรียกร้องให้
กระทรวงสาธารณสุขชำระภาษีนำเข้า ค่าธรรมเนียม และภาษีมูลค่าเพิ่มของเครื่อง Motor
2.3 สัญญาซื้อครุภัณฑ์รถเอกซ์เรย์เคลื่อนที่ (X-ray mobile Car Unit) ประกอบด้วย
เครื่องเอกซ์เรย์และเครื่องล้างฟิล์มที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและรถที่ผลิตในประเทศไทย บริษัท
คู่สัญญาได้ออกอินวอยซ์ (Invoice) เรียกเก็บค่าครุภัณฑ์จากกระทรวงสาธารณสุขโดยแสดงราคา
ซี.ไอ.เอฟ. ตามจำนวนที่ตกลงกันตาม Contract Price กล่าวคือ เป็นราคารวมที่คำนวณจากตัว
เครื่องเอกซ์เรย์ เครื่องล้างฟิล์มและรถ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้าตัวเครื่อง
เอกซ์เรย์และเครื่องล้างฟิล์ม โดยชำระภาษีนำเข้า ค่าธรรมเนียม และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณจาก
ราคารวมตาม Contract Price แต่สำหรับรถที่ผลิตในประเทศ ผู้ประกอบการในประเทศไทยเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ไปแล้วโดยบริษัทคู่สัญญาไม่ได้เรียกร้องภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจาก
กระทรวงสาธารณสุข
3. กระทรวงสาธารณสุขหารือว่า การนำเข้าตัวเครื่อง Main Unit ตัวเครื่องเอกซ์เรย์
และเครื่องล้างฟิล์ม กระทรวงสาธารณสุขจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากราคาเต็มตาม
Contract Price หรือไม่ และกรณีผู้ประกอบการในประเทศไทยซึ่งผลิตตัว Stabilizer รถเข็นสี่ล้อ
สำหรับเคลื่อนย้ายเครื่อง Patient Monitor และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ไปแล้ว
บริษัทคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุขจะเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท
คู่สัญญาได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีกระทรวงสาธารณสุขซื้อครุภัณฑ์จากบริษัทคู่สัญญาซึ่งจดทะเบียนในต่างประเทศ โดย
นำเข้าครุภัณฑ์จากต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของฐานภาษีจากการนำเข้าครุภัณฑ์
ตามมาตรา 77/2(2) มาตรา 80 และมาตรา 82(2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุขมีภาระจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ ผู้ประกอบการใน
ประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญาได้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขชำระภาษี มูลค่าเพิ่มดังกล่าวให้แก่
บริษัทคู่สัญญานั้น ย่อมเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาระหว่างกระทรวง สาธารณสุขกับบริษัทคู่สัญญา
เลขตู้: 63/29913

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020