เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/6752
วันที่: 14 พฤศจิกายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17), มาตรา 50(4),(5), มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 69 ตรี, มาตรา 91/1(4)
ข้อหารือ: กรมที่ดินหารือเกี่ยวกับภาระภาษีจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหา
อสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 ดังนี้
1. กรณีหน่วยงานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชนดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการ
เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยถือว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการตามมาตรา
8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามฎหมาย
ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยหน่วยงานของรัฐจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดิน หรือ
ผู้ครอบครองที่ดิน
2. กรณีหน่วยงานดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการ
ดำเนินกิจการขนส่งมวลชนโดยไม่จำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นให้
หัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานที่ดำเนินการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ทำ
ความตกลงกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำสัญญากำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์
ถ้าตกลงกันได้ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินดำเนินการจดทะเบียน กำหนดภาระใน
อสังหาริมทรัพย์ในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ให้ตราพระราชบัญญัติกำหนดภาระ
ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนขึ้น โดยให้ที่ดินตกอยู่ภายใต้ภาระในอสังหาริมทรัพย์ นับแต่วันที่
พระราชบัญญัติกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนใช้บังคับ และให้แจ้งพนักงาน
เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินจดทะเบียนกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นหลักฐาน โดย
หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองที่ดิน
กรมที่ดิน จึงขอทราบภาระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
1. กรณีหน่วยงานใดของรัฐ มีความจำเป็นต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการ
ขนส่งมวลชน ในทางปฏิบัติต้องมีการแก้ไขหลักฐานทางทะเบียน เจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ต้อง เรียกเก็บ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ขณะที่
มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือไม่ และจากทุนทรัพย์ใด
2. กรณีหน่วยงานใดของรัฐ มีความจำเป็นต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
โดยไม่จำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ทั้งกรณีที่ตกลงกันได้ หรือกรณีที่ตกลงกันไม่ได้และได้ตรา
พระราชบัญญัติฯ ในทางปฏิบัติต้องมีการจดทะเบียนกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เจ้าพนักงานที่ดินมี
หน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและ
อากรแสตมป์ ขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือไม่ และจากทุนทรัพย์ใด
แนววินิจฉัย: 1. กรณีผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นบุคคลธรรมดา
(1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าทดแทนที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืน
อสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะที่ดินที่ต้องเวนคืน และอสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่ต้องเวนคืนเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(29) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.
2509)ฯ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
และนำส่ง ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าทดแทนที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น
ทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น
ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 สำหรับการโอนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2542 หรือตาม
มาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 สำหรับการโอนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2542 เป็นต้นไปพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ
เพื่อกรมสรรพากรตามมาตรา 91/10 วรรคหก แห่งประมวลรัษฎากร
(3) อากรแสตมป์ หลักฐานการรับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เข้า
ลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการ
จดทะเบียนตามกฎหมาย ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) ใบรับ แห่ง
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่ได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพราะเป็นใบรับจากการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่
ต้องเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
2. กรณีผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นนิติบุคคล
(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรัฐบาล องค์การของรัฐบาลฯ จ่ายเงินค่าทดแทนที่ได้รับ
ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่นิติบุคคล รัฐบาล องค์การของรัฐบาลฯ มีหน้าที่ต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินค่าทดแทนที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 1 ในขณะ
ที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าทดแทนที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขาย ซึ่งเป็นนิติบุคคลตาม
มาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร มีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา
ฯ ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 สำหรับการโอน
ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2542 หรือตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
สำหรับการโอนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึง
มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากรในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน
อัตราร้อยละ 3.3 ของจำนวนเงินค่าทดแทนตามมาตรา 91/6(3) และมาตรา 91/10 วรรคหก แห่ง
ประมวลรัษฎากร
(3) อากรแสตมป์ หลักฐานการรับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เข้า
ลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการ
จดทะเบียนตามกฎหมายต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) ใบรับ แห่ง
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่ได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพราะเป็นการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน
จากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นใบรับสำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
3. กรณีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกอยู่ภายใต้
ภาระจำยอม
(1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าตอบแทนจากการจดทะเบียนกำหนดภาระใน
อสังหาริมทรัพย์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามคำนิยาม “ขาย” ในมาตรา 39 แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ
รัฐบาล องค์การของรัฐบาลฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและ
นำส่งในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนที่ได้รับตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงาน
เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง เมื่อมี
การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เนื่องจากไม่เข้าลักษณะการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 50(5)
แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าตอบแทนจากการจดทะเบียนกำหนดภาระใน
อสังหาริมทรัพย์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามคำนิยาม “ขาย” ในมาตรา 91/1(4)
แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบุคคลธรรมดาจดทะเบียนกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ ให้แก่
หน่วยงานของรัฐบาล องค์การของรัฐบาลฯ โดยได้รับค่าตอบแทน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงไม่ต้อง
เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
(3) อากรแสตมป์ หลักฐานการรับเงินค่าตอบแทนจากการจดทะเบียนกำหนดภาระ
ในอสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อ
นิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมายต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการ
ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) ใบรับแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21)ฯ ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2525
4. กรณีนิติบุคคลเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอม
(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าตอบแทนจากการจดทะเบียนกำหนดภาระใน
อสังหาริมทรัพย์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามคำนิยาม “ขาย” ในมาตรา 39 แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ
รัฐบาล องค์การของรัฐบาลฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและ
นำส่ง ในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนที่ได้รับตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พนักงาน
เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง เมื่อมี
การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เนื่องจากไม่เข้าลักษณะการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 69 ตรี
แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าตอบแทนจากการจดทะเบียนกำหนดภาระใน
อสังหาริมทรัพย์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามคำนิยาม “ขาย” ในมาตรา 91/1(4)
แห่งประมวลรัษฎากร กรณีนิติบุคคลจดทะเบียนกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่หน่วยงานของรัฐบาล
องค์การของรัฐบาลฯ โดยได้รับค่าตอบแทน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
(3) อากรแสตมป์ หลักฐานการรับเงินค่าตอบแทนจากการจดทะเบียนกำหนดภาระ
ในอสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อ
นิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการ
ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) ใบรับแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21)ฯ ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2525
เลขตู้: 63/29948

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020