เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7564
วันที่: 11 กรกฎาคม 2547
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 103
ข้อหารือ: 1. ศาลจังหวัด ก. ได้แจ้งให้ศาลจังหวัด ข. บังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัด
ข. ได้ทำการยึดทรัพย์ของ นาง ค ซึ่งเป็นนายประกัน คือ ที่ดิน น.ส.3 ก จำนวน 1 แปลง และได้
ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้แก่ นาย ง. ผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 550,000 บาท เมื่อวันที่
2 พฤษภาคม 2538 ผู้ซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว
2. ศาลจังหวัด ข ได้หักค่าอากรแสตมป์ร้อยละ 0.50 จากราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,750 บาท
และนำเงินค่าอากรที่ได้รับชำระนำส่งสำนักงานสรรพากรอำเภอเมือง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2538 โดย
ยื่นแบบเสียอากรเป็นตัวเงิน (แบบ อส.4) ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่ง
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ระบุผู้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน คือ ศาลจังหวัด ข ใบสลักหลังตราสาร (แบบ
อ.ส.5) ระบุชื่อผู้เสียอากร คือ ศาลจังหวัด ข ใบเสร็จรับเงินระบุผู้ชำระภาษีอากร คือ ศาลจังหวัด ข
และศาลจังหวัด ข ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบสรุป
สาระสำคัญว่า ให้ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนทรัพย์คือที่ดินของนายประกันแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้
ซึ่งศาลจังหวัด ข ได้หักค่าอากรแสตมป์ร้อยละ 0.50 จากราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,750 บาท ไว้แล้ว
และจะได้นำส่งสำนักงานสรรพากรอำเภอต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับและ
จ่ายเงิน เสนอศาลจังหวัด ข ให้ทราบเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 สรุปสาระสำคัญว่า ใน
การขายทอดตลาดทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 มีการหักค่าอากรแสตมป์นำส่งสำนักงาน
สรรพากรอำเภอ เป็นเงิน 2,750 บาท
3. ต่อมาศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษาพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อแถลงขอรับ
เงินค่าซื้อทรัพย์พร้อมค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ที่ศาลจังหวัด ข ได้หักไว้ แต่ศาลจังหวัด ข ได้
หักค่าอากรแสตมป์นำส่งสำนักงานสรรพากรอำเภอเมือง ข แล้ว จำนวน 2,750 บาท ศาลจังหวัด ข
จึงมีความประสงค์ขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืน เพื่อจะได้รวมเงินคืนแก่ผู้ซื้อต่อไป และคดีถึงที่สุดแล้ว
แนววินิจฉัย: การขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี เข้าลักษณะเป็นการ
โอนสิทธิหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ใบรับสำหรับการโอนสิทธิหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ
เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ผู้ออกใบรับจึงต้องติดอากรแสตมป์ 1 บาท สำหรับจำนวนเงินตั้งแต่ 200 บาท
ขึ้นไป ทุก 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
โดยเจ้าของทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาดต้องชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ในวันที่
ได้ขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น และให้เจ้าพนักงานดังกล่าวนำเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้รับชำระส่ง
สรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21)
เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสาร 28.(ข) แห่ง
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 43)ฯ ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว และ
คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีดังกล่าวจึงไม่มีการโอนสิทธิหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น และ
ไม่มีกรณีต้องออกใบรับ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ นาง ค จึงไม่มี
หน้าที่ต้องชำระค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนาย ง ได้ชำระค่า
อากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนผู้ขายสำหรับตราสารใบรับไว้ก่อนแล้ว นาย ง มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนค่า
อากรแสตมป์ได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันชำระค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 193/30 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามแบบ ค.10 ณ. สำนักงาน
สรรพากรพื้นที่
เลขตู้: 67/33083


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020