เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7715
วันที่: 17 สิงหาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทให้แก่กรรมการและพนักงานของบริษัท
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ช), มาตรา 42(17)
ข้อหารือ: 1. บริษัท ก. จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจการจัดสร้างโรงงานมาตรฐานเพื่อ
วัตถุประสงค์ในการให้เช่าหรือเพื่อการขาย โดยบริษัทฯ ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน
15,000,000 หุ้น ให้แก่ประชาชนทั่วไป ในราคาเสนอขายหุ้นละ 21 บาท และได้ออกใบสำคัญแสดง
สิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 22,500,000 ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ประชาชนทั่วไปที่ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน
กรรมการและพนักงานของบริษัทฯ ที่ได้รับการคัดเลือก ในราคาหุ้นละ 5 บาท
2. บริษัทฯ ได้มีหนังสือที่ หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีใบสำคัญ
แสดงสิทธิที่ออกให้แก่กรรมการและพนักงานของบริษัทฯ และสำนักงานสรรพากรภาค ได้มีหนังสือที่ แจ้ง
บริษัทฯ เกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ออกใบสำคัญแสดง
สิทธิให้แก่กรรมการและพนักงาน
3. ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือที่ หารือกรมสรรพากรเพื่อยืนยันผลการพิจารณาของสำนักงาน
สรรพากรภาค และหารือเพิ่มเติมดังนี้
3.1 กรณีกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ นำใบสำคัญแสดงสิทธิมาซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ
ถือว่ากรรมการและพนักงานได้รับเงินได้จากบริษัทฯ ในวันที่มีการใช้สิทธิดังกล่าว โดยคำนวณเงินได้จาก
ราคาหุ้นสามัญของบริษัทฯ ที่มีการขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering) ราคา 21 บาทต่อ
หุ้น หักด้วยต้นทุนการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ ราคา 5 บาทต่อหุ้น บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
และนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือไม่ อย่างไร
3.2 เนื่องจากบริษัทฯ มิได้มีข้อห้ามกรรมการและพนักงานโอนเปลี่ยนมือใบสำคัญแสดง
สิทธิ กรรมการและพนักงานจึงสามารถขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือนอก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งกรรมการและพนักงานจะได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิจากบริษัทฯ
ในราคาเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในราคา 0 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวและมีเงื่อนไขเดียวกันกับผู้
จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ถือหุ้นเดิม โดยวันที่มีการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิให้
แก่กรรมการและพนักงาน คือ วันที่ 4 มิถุนายน 2545 และใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวยังไม่มีการซื้อขาย
ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ได้เริ่มมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 บริษัทฯ
หารือว่า หากกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ ขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย และนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการและพนักงานดังกล่าวมีหน้าที่ต้อง
เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการขายหุ้น
ดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
3.3 กรณีกรรมการหรือพนักงานที่ได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิลาออกจากบริษัทฯ
ภายหลังจากได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยกรรมการและพนักงานดังกล่าวได้นำใบสำคัญแสดงสิทธิมาซื้อหุ้น
ของบริษัทฯ หรือขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือนอกตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย กรรมการและพนักงานมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม 3.1 และ 3.2
หรือไม่ และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญให้แก่กรรมการและพนักงาน ต่อมา
บุคคลดังกล่าวนำใบสำคัญแสดงสิทธิมาซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ กรรมการและพนักงานมีหน้าที่เสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
1.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกรรมการและพนักงานนำใบสำคัญแสดงสิทธิ
มาซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ กรรมการและพนักงานจึงได้รับ
เงินได้พึงประเมินในวันที่มีการใช้สิทธิดังกล่าวดังนี้
(1) หากกรรมการ พนักงานได้รับเงินได้จากบริษัทฯ เนื่องจากหน้าที่งานหรือ
ตำแหน่งที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ กรณีถือเป็นประโยชน์ใด ๆ ที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่
ทำหรือจากการรับทำงานให้ อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
(2) หากกรรมการ พนักงานของบริษัทฯ ได้รับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
กรณีถือเป็นประโยชน์ใด ๆ ที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ในการคำนวณเงินได้ดังกล่าวให้คำนวณจากราคาหุ้นสามัญของบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์
ต่อไปนี้ หักด้วยราคาการใช้สิทธิ (Exercise Price) ในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว
(ก) หากหุ้นดังกล่าวมีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ให้
ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป
(ข) หากหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชน (Public Offering) ให้ถือ
มูลค่าหุ้นเท่ากับราคาเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น
1.2 กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และ
นำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของ
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่ง
ภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
2. กรณีกรรมการและพนักงานมิได้ใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่ได้รับแต่นำ ใบสำคัญแสดง
สิทธิไปขาย เนื่องจากใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถนำมา
จดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์รับอนุญาตได้ เมื่อกรรมการและพนักงานขายใบสำคัญ
แสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและนอกตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ภาระภาษีของ
กรรมการและพนักงานที่ได้ขายใบสำคัญแสดงสิทธิ แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีการขายใบสำคัญแสดงสิทธินอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากการขาย
ใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีส่วนต่างซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิ เฉพาะ
ส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิ
ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร กรรมการและพนักงาน
ผู้มีเงินได้ มีหน้าที่นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา โดยยื่น
แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเมื่อสิ้นปี ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็น
ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าว มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณ หักตามอัตราภาษีเงินได้ตาม
มาตรา 50(2) วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีการขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากการขาย
ใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีส่วนต่างซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิ เฉพาะ
ส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิ
และถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจาก
การขายใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการและ
พนักงานจึงไม่ต้องนำเงินได้จากการขายใบสำคัญแสดงสิทธิมารวมคำนวณเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 2(23) แห่ง
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
3. กรณีกรรมการหรือพนักงานลาออกจากบริษัทฯ ภายหลังจากได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ และ
ต่อมาบุคคลดังกล่าวได้นำใบสำคัญสิทธิมาซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ เนื่องจากกรรมการหรือพนักงานได้รับ
ประโยชน์ตามใบสำคัญแสดงสิทธิจากการจ้างแรงงานหรือการ รับทำงานให้ และใบสำคัญแสดงสิทธิ
ดังกล่าวได้ระบุชื่อกรรมการหรือพนักงานในการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ แม้ว่ากรรมการหรือพนักงานจะนำ
ใบสำคัญแสดงสิทธิมาซื้อหุ้นสามัญภายหลังจากที่ได้ลาออกจากบริษัทฯ หรือขายใบสำคัญแสดงสิทธิใน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้ลาออกจาก
บริษัทฯ กรรมการหรือพนักงานมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม 1. และ 2.
เลขตู้: 67/33096


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020