เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.)/656
วันที่: 21 กรกฎาคม 2547
เรื่อง: การหักกลบลบหนี้ภาษีอากรจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 341 แห่งประมวลกฎหายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ: 1 กรณีกรมสรรพากรได้วางแนววินิจฉัยตามมติคณะกรรมการ กพอ.ครั้งที่ 3/2518 ลงวันที่
13 กุมภาพันธ์ 2518 (ระเบียบวาระที่ 1) แนววินิจฉัยของสำนักกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติของ
สำนักมาตรฐานกรรมวิธีภาษี สรุปเป็นแนวทางวินิจฉัยและแนวทางปฏิบัติในการหักกลบลบหนี้ภาษีอากรจาก
การตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินว่า เจ้าพนักงานประเมินมีสิทธินำภาษีที่ชำระไว้เกินไปหักกลบจาก
ภาษีที่ชำระไว้ขาดได้โดยไม่อยู่ในบังคับเรื่องอายุความและในการหักกลบลบหนี้ภาษีอากรจาก
การตรวจสอบนั้นไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบตามหมายเรียกหรือตรวจสอบโดยการตรวจปฏิบัติการก็ตาม
เจ้าพนักงานประเมินมีสิทธินำภาษีที่ชำระไว้เกินและขาดมาหักออกจากกันได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าภาษีอากรที่
ตรวจสอบนั้นจะเป็นภาษีประเภทใดก็ตาม
2 ต่อมาศาลฎีกาแผนคดีภาษีอากร ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8855/2543 และ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2544 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2544 วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานใน
แนวทางเดียวกันว่า เจ้าพนักงานประเมินไม่อาจนำหนี้ภาษีอากรที่ตรวจสอบและทำการประเมินเรียกเก็บ
เพิ่มแต่ยังไม่ได้แจ้งการประเมินไม่อาจนำหนี้ภาษีอากรที่ตรวจสอบและทำการประเมินเรียกเก็บเพิ่มแต่
ยังไม่ได้แจ้งการประเมินถึงผู้มีหน้าที่เสียภาษีไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่ต้องคืนให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษี
ได้ เนื่องจากกรณีภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากรนั้นเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษี
อากรแล้วต้องแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะใช้สิทธิ
อุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรได้หากยังมิได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม
ไปยังผู้มีหน้าที่ผู้เสียภาษีย่อมมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ การที่กฎหมาย
บัญญัติว่าจะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ แสดงให้เห็นได้ว่าก่อนทำการประเมินและแจ้งไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี
ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นหนี้ภาษีอากรที่แน่นอน เมื่อยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอน กรมสรรพากรจึง
ไม่อาจนำหนี้ภาษีอากรที่ตรวจสอบและทำการประเมินเรียกเก็บเพิ่มแต่ยังไม่ได้แจ้งการประเมินถึงผู้มี
หน้าที่เสียภาษีไปหักกลบลบหนี้ได้ กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งผลการตรวจสอบภาษีดังกล่าวให้ทราบ
กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีการประเมินภาษีและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี เพราะ
อาจกระทบสิทธิของผู้ต้องเสียภาษีในการอุทธรณ์การประเมินได้
แนววินิจฉัย: แม้กรมสรรพากรได้วางแนววินิจฉัยและแนวทางปฏิบัติในการหักกลบลบหนี้ภาษีอากรจาก
การตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินไว้ว่า เจ้าพนักงานประเมินมีสิทธินำภาษีที่ชำระไว้เกินไปหักกลบ
จากภาษีที่ชำระไว้ขาดได้ โดยไม่อยู่ในบังคับเรื่องอายุความ และในการหักกลบลบหนี้ภาษีอากรจาก
การตรวจสอบนั้นไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบตามหมายเรียกหรือตรวจสอบโดยการตรวจปฏิบัติการก็ตาม
เจ้าพนักงานประเมินมีสิทธินำภาษีที่ชำระไว้เกินและขาดมาหักออกจากกันได้ไม่ขัดต่อบทบัญญัติตาม
ประมวลรัษฎากรในเรื่องอายุความการขอคืนภาษีตามประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่เนื่องจากบทบัญญัติว่าด้วย
วิธีการเกี่ยวกับภาษีอากรประเมินในหมวด 2 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดว่ากรณี
ภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากรนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีอากรแล้ว ต้อง
แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมิน
ตามบทบัญญัติในส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ หากยังไม่มีการแจ้งการประเมิน
ภาษีผู้มีหน้าที่เสียภาษีก็ไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินได้การที่กฎหมายบัญญัติว่าจะอุทธรณ์การประเมิน
ก็ได้ แสดงให้เห็นได้ว่าก่อนทำการประเมินและแจ้งไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี เป็นกรณีที่ยังไม่มีหน้าที่ต้อง
ชำระภาษีดังกล่าว จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นหนี้ภาษีอากรที่แน่นอน เมื่อยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ภาษีอากรที่
แน่นอน กรมสรรพากรจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหาย
แพ่งและพาณิชย์ มาใช้ในการหักกลบลบหนี้ภาษีอากรที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วแต่ยังไม่ได้
แจ้งการประเมินถึงผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้แต่อย่างใด ในการหักกลบลบหนี้ภาษีอากรจากการตรวจสอบของ
เจ้าพนักงานประเมินจะกระทำได้ต่อเมื่อได้แจ้งการประเมินภาษีถึงผู้มีหน้าที่เสียภาษีแล้วเท่านั้น
เลขตู้: 67/33057


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020