เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7026
วันที่: 23 กรกฎาคม 2547
เรื่อง: ภาระภาษีจากการจัดงานกาลาดินเนอร์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 ประมวลรัษฎากร มาตรา 47(7)(ข)
ข้อหารือ: คณะกรรมการดำเนินโครงการและกิจกรรมฝ่ายสตรี ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล
เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่
331/2545 ฯ ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2545 มีโครงการจัดงานกาลาดินเนอร์ "ราตรีแก้วตา
ดวงใจ เทิดไท้ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ" โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นองค์ประธาน และทรงพระราชทานจัดงานในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2547
การจัดงานกาลาดินเนอร์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราช
อัธยาศัยและจะนำเงินรายได้จากการจำหน่ายบัตรหลังจากหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนโครงการแก้วตา ดวงใจ
เทิดไท้ 72 พรรษา มหาราชินี ของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการฯ จึงได้มีมติมอบให้สำนักงาน
กิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ และเป็นผู้ดำเนินการจัดงานกา
ลาดินเนอร์ฯ โดยอาศัยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 ที่สำนักงานฯ ได้รับอนุมัติ
จากสำนักงบประมาณ เป็นผู้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาระภาษีอากรจากการจัดงานและจำหน่ายบัตร
กาลาดินเนอร์ และการหักลดหย่อนหรือการหักรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน
โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยในงานกาลาดินเนอร์
แนววินิจฉัย: 1. กรณีภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการจัดงานและจำหน่ายบัตรกาลาดินเนอร์ "ราตรี
แก้วตา ดวงใจ เทิดไท้ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ"
(1) ภาษีเงินได้
กรณีสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวดำเนินการจัดงานกาลาดินเนอร์
เนื่องจากสำนักงานฯ เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่ง
ประมวลรัษฎากร รายได้จากการจัดงานและจำหน่ายบัตรกาลาดินเนอร์ฯ ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับต้อง
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
(2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีสำนักงานฯ ดำเนินการจัดงานกาลาดินเนอร์ฯ และมีรายรับจากการจัดงานและ
จำหน่ายบัตรกาลาดินเนอร์ เนื่องจากสำนักงานฯ มิได้กระทำเพื่อหาผลกำไรหรือทำเป็นปกติธุระ จึงไม่
เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ตามมาตรา 77/1(5)
แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
2. กรณีการหักลดหย่อนหรือการหักรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของผู้ทูลเกล้าฯถวายเงิน
โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยในงานกาลาดินเนอร์ฯ
(1) กรณีบุคคลธรรมดาทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ในนามองค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด ตามมาตรา
47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ในประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามมาตรา
47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3(4)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254)
พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เช่น โครงการแก้วตา ดวงใจ เทิดไท้ 72 พรรษา
มหาราชินี เข้าลักษณะเป็นการบริจาคเงินให้แก่องค์การ หรือสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการคลังประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิหักลดหย่อนภาษีได้
ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตาม
พระราชอัธยาศัย เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ จึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวมาถือเป็น
รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3)
แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33055

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020