เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5015
วันที่: 24 พฤษภาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสิทธิการรับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 84
ข้อหารือ: กรณีสิทธิการรับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีข้อเท็จจริงว่า กิจการร่วมค้าบริษัท ล.และ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีดังนี้
1. เดือนภาษีกรกฎาคม 2541 (ยื่นเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 ขอคืน
ภาษีมูลค่าเพิ่มรวมจำนวนเงิน 17,453.96 บาท
2. เดือนภาษีตุลาคม 2541 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม
จำนวนเงิน 732,482.73 บาท
3. เดือนภาษีมกราคม 2542 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม
จำนวนเงิน 23,479.70 บาท
แนววินิจฉัย: กิจการร่วมค้าบริษัท ล. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและ
ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีกรกฎาคม 2541 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 เดือนภาษีตุลาคม
2541 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 และเดือนภาษีมกราคม 2542 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542
ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ระหว่างการพิจารณาคืนภาษีตามคำร้องยังไม่เสร็จสิ้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้จดทะเบียนแจ้งเลิกกิจการและเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน
2542 เป็นผลให้กิจการร่วมค้าเลิกไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่สะสาง
การงานของห้างหุ้นส่วนให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้น และ
ผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจที่จะกระทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็นเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ตาม
มาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อปรากฏว่าผู้ชำระบัญชีทราบว่าห้างฯ ได้ลงทุนใน
กิจการร่วมค้าฯ ผู้ชำระบัญชีก็มีหน้าที่สะสางการงานของห้างหุ้นส่วนให้เสร็จสิ้นไปเสียก่อนเสร็จการชำระ
บัญชี เมื่อผู้ชำระบัญชีไม่กระทำก็ถือว่าได้สละการใช้สิทธิ ดังนั้นเมื่อกิจการร่วมค้าเลิกไปโดยผลของ
กฎหมาย กรมสรรพากรจึงไม่อาจคืนภาษีให้แก่กิจการร่วมค้าได้ ส่วนกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้มี
หนังสือมอบอำนาจให้ บริษัท ล. เป็นผู้รับมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจย่อมสิ้นผล เมื่อผู้มอบอำนาจไม่มี
สภาพนิติบุคคลอีกต่อไป บริษัท ล. จึงไม่อาจรับมอบอำนาจเป็นผู้รับเงินคืนภาษีอากรได้
เลขตู้: 67/32968


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020